xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ 17 ม.ค. 67 เปิดเมโทรมอลล์สถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์  BMN "ทุ่ม 50 ล้านปรับโฉม" คลองเตย-พระราม 9-ลาดพร้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"BMN" ดีเดย์ 17 ม.ค. 67 เปิดเมโทรมอลล์ MRT สถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชูไฮไลต์ร้านอาหาร-Meeting Point รองรับพนักงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว กางแผนปี 67 ทุ่มอีก 50 ล้านบาทปรับพื้นที่คลองเตยผุดโปรเจกต์ CSR ศูนย์เรียนรู้เพื่อเยาวชน รีเฟรชพระราม 9 และรีเทลลาดพร้าว รับผู้โดยสารเพิ่มหลังเปิด "สีเหลือง"

นายวิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) กล่าวว่า ในวันที่ 17 ม.ค. 2567 บริษัทฯ เตรียมเปิดเมโทร มอลล์ สถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแห่งที่ 10 ใช้งบลงทุนประมาณ 20 ล้านบาทในการปรับปรุงพื้นที่และทำแผนการตลาดทั้งหมด โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT และมีการเปิดพื้นที่เมโทร มอลล์ไปแล้ว 9 สถานีคือ สุขุมวิท, พระราม 9, จตุจักร, พหลโยธิน, กำแพงเพชร, คลองเตย, ศูนย์วัฒนธรรมฯ, สถานีเพชรบุรี และลาดพร้าว (กูเมต์ มาร์เก็ต)

สำหรับสถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีการปรับแนวคิดเพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้โดยสาร และพื้นที่โดยรอบสถานี ที่มีพนักงานออฟฟิศมาก แต่มีร้านอาหารน้อย และราคาที่อาจจะสูงไป แนวคิดจึงจัดพื้นที่สำหรับร้านค้า ร้านอาหารบริการในราคาที่สมเหตุสมผล ขณะที่เป้าหมายต่อมาคือ นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เข้ามาร่วมงานที่ศูนย์การประชุมฯ สิริกิติ์ โดยจะให้ความสำคัญต่อ Meeting Point มีการขยายพื้นที่ส่วนกลาง มีเก้าอี้สำหรับพักคอย 

สถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์มีพื้นที่รวมทั้งหมด 927 ตารางเมตร โดยเป็นพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร และพื้นที่จัดอีเวนต์ จำนวน 772 ตารางเมตร ปัจจุบันยอดจองพื้นที่ร้านค้า 95% แล้ว ปัจจุบันสถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์มีผู้โดยสารผ่านเข้าออกสถานีกว่า 5 หมื่นคน/วัน คาดว่าเมื่อเปิดพื้นที่เมโทรมอลล์จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  


ปัจจุบันบริษัทฯ มีการศึกษา สำรวจพฤติกรรมของผู้โดยสารเพื่อนำมาจัดรูปแบบบริการให้เหมาะสม จะสรุปการศึกษาปลายปีนี้ โดยในปี 2567 มีแผนในการปรับปรุงพื้นที่ 3 สถานี คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท

ได้แก่ สถานีลาดพร้าวพื้นที่ด้านใน เป็นมอลล์หรือพื้นที่รีเทล เพิ่มเติมจากปัจจุบันบริเวณอาคารจอดแล้วจร มี “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ขนาด 2,300 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง โดยมีจุดเชื่อมกับสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว

ปรับปรุงสถานีคลองเตย ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ให้กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศบริการด้านพาสปอร์ต แต่ยังมีพื้นที่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งแนวคิดจะทำเป็นพื้นที่ CSR สำหรับชุมชนโดยรอบ โดยเน้นไปที่เยาวชนเป็นแนว "Study Cafe" จะมีพื้นที่สตูดิโอ เป็นแหล่งเรียนรู้ มีคอร์สเรียนรู้สอนโดยมืออาชีพ เช่น ทำคลิป ไลฟ์สด เพื่อให้ไปต่อยอดอาชีพได้ โดยบริษัทฯ จับมือกับพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ อบรมให้ฟรี นอกจากนี้จะมีพื้นที่ร้านค้าเครื่องดื่ม ขายในราคาพิศษ หรือราคาโปรโมชัน นอกจากนี้จะติดกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลด้านความปลอดภัยไม่เป็นแหล่งมั่วสุม โดยคาดว่าจะเปิดในไตรมาส 2/2567

ปรับปรุงสถานีพระราม 9 เป็นรีเฟรชพื้นที่บางส่วนให้มีสีสันความสดใสมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาสำรวจสถานีสามยอด และวัดมังกร เพื่อเตรียมพัฒนาในลำดับต่อไป


สำหรับรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์ปี 2564 จำนวน 822 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 920 ล้านบาท ปี 2566 เดือนมกราคมถึงสิงหาคม (8 เดือน) จำนวน 709 ล้านบาท คาดรายได้ทั้งปีเติบโตประมาณ 20% โดยมาจาก 2 ส่วน คือ พื้นที่รีเทล สัดส่วนรายได้ 30% ซึ่งจำนวนร้านค้ากลับมาเปิดเกือบ 100% มีพื้นที่การจัดกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งปี และรายได้จากพื้นที่สื่อโฆษณาในสถานีและตัวรถไฟฟ้าสัดส่วนรายได้ 70%

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์บนทางด่วนภายใต้สัญญาสัมปทานของ BEM มีการปรับปรุงพื้นที่ร้านค้า และรีโนเวตห้องน้ำ และเพิ่มพื้นที่จอดรถใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทาง ได้แก่ บริเวณด่านศรีนครินทร์ ด่านประชาชื่น ด่านบางปะอิน ฯลฯ

สำหรับการเยียวยาร้านค้าที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดยังเหลืออีกเล็กน้อย ไม่กี่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบมากๆ ตอนนี้ผู้โดยสารกลับมาปกติและมีจำนวนสูงกว่าปี 2562 แล้ว ส่วนร้านค้าก็ถือว่าเปิดเกือบเต็มพื้นที่แล้ว ขณะที่ยอดขายกลับมาเติบโต 


กำลังโหลดความคิดเห็น