xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอัญมณีฯ แจ้งข่าวดี! 4 คนไทยเป็นกรรมการ-อนุกรรมการใน CIBJO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันอัญมณีฯ เผย 4 คนไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการในสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO) มั่นใจช่วยขับเคลื่อนมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับ การแก้ไขปัญหาความท้าทาย ทั้งการเข้ามาของ AI การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และความยั่งยืน คาดสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมของไทยได้ดีขึ้น

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (World Jewellery Confederation - CIBJO) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เมืองชัยปุระ อินเดีย ได้มีมติแต่งตั้งผู้แทนจากประเทศไทยเป็นคณะกรรมการของ CIBJO ได้แก่ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ จากบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) และตนเอง ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานของ CIBJO และยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการของ CIBJO ได้แก่ นายทนง ลีลาวัฒนาสุข รองผู้อำนวยการ GIT เป็นรองประธานฝ่าย Gemmological Commission ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์ในการตรวจสอบมาตรฐานด้านการตรวจสอบอัญมณี และนายปิติพงษ์ เตียสุวรรณ์ จากบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานกลุ่มที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับและเทคโนโลยีการผลิต


“การที่มีคนไทยเข้าไปเป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการใน CIBJO จะช่วยให้สามารถผลักดันการสร้างมาตรฐานในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งของไทยและระดับโลก ช่วยในการนำเสนอปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของ AI การผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบ การแสดงบทบาทของอุตสาหกรรมในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีชนิดใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น ที่ทำได้ดีขึ้นและเกิดประโยชน์กับไทยมากขึ้น” นายสุเมธกล่าว

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้มีการพบปะหารือในประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมของผู้นำองค์กรสากลด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก เช่น Responsible Jewellery Council (RJC) , The International Colored Gemstone Association (ICA) , Jewelers Vigilance Committee (JVC) , Gem Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) , De Beers , The World Diamond Council (WDC) เป็นต้น และยังมีคณะนักอัญมณีศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และตัวแทนจากห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีชั้นนำ และห้องปฏิบัติการแห่งชาติจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Gemological Institute of America (GIA), National Gemstone Testing Center) (NGTC), HRD Antwerp, Swiss Gemmological Institute SSEF, Gubelin มาร่วมประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาด้านเทคนิคร่วมกันด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น