xs
xsm
sm
md
lg

ลัดคิวรถไฟทางคู่ "หาดใหญ่-ปาดังฯ" ชง ครม.หนุนขนส่งชายแดนใต้ "สุรพงษ์" สั่ง รฟท.ลุยหาลูกค้าเพิ่มรายได้สินค้า 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุรพงษ์" สั่งลัดคิวรถไฟทางคู่ "หาดใหญ่-ปาดังฯ" เข็นชงบอร์ด รฟท.สัปดาห์หน้า เสนอ ครม.ใน พ.ย. ชี้นักธุรกิจและประชาชนในพื้นที่เรียกร้อง พร้อมสั่งฝ่ายการตลาด เร่งหาลูกค้าเพิ่มส่วนแบ่งขนส่งสินค้าจาก 3% เป็น 30% ลั่นปี 67 งบดุลต้องไม่ขาดทุน จะตรวจการบ้านทุก 3 เดือน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า รฟท.ได้รายงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง และรถไฟทางคู่ระยะแรก ว่ามีความก้าวหน้าพอสมควร โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้ได้ภายในปี 2566 เพื่อเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน

นอกจากนี้ จะเร่งเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งตนได้ให้นโยบายปรับแผนเร่งรัดเส้นทาง ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,864.49 ล้านบาท จากเดิมที่อยูู่ลำดับท้ายจะก่อสร้างเสร็จปี 2572 ขึ้นมาดำเนินการก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะสนับสนุนการค้าชายแดนให้มีความสะดวกมากขึ้น และนักธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ร้องขอให้เร่งดำเนินการ

โดยให้ รฟท.เร่งนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาในสัปดาห์หน้า (วันที่ 19 ต.ค.) เพื่อสรุปและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือน พ.ย. 2566 เนื่องจากโครงการมีความพร้อม การออกแบบเสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561

ขณะที่รถไฟทางคู่ ระยะ 2 ที่พร้อมนำเสนอครม.ในวันที่ 16 ต.ค. 2566 คือ เส้นทางช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท เป็นลำดับต่อไป ถือว่ามีความพร้อมเดินหน้า โดยรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565


ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท นายสุรพงษ์กล่าวว่า พร้อมผลักดันเสนอ ครม.ภายในปลายปี 2566 นี้ หรือในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากได้ศึกษาออกแบบเรียบร้อย และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว และเส้นทางที่มีความจำเป็นเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางจำนวนมาก เนื่องจากเป็นศูนย์ในด้านโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา


@ตั้งเป้าหาลูกค้าเพิ่มสัดส่วนขนส่งสินค้า จาก 3% เป็น 30%-ปี 67 งบดุลต้องขาดทุน

นายสุรพงษ์กล่าวถึงปัญหาผลประกอบการ รฟท.ที่ขาดทุน และมีหนี้สะสมจำนวนมาก ว่า แม้ธุรกิจของ รฟท.จะไม่มีคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การพัฒนาตัวเองช้า ซึ่งตนเห็นว่าการลดรายจ่ายทำได้ยากเพราะมีต้นทุนคนที่สูง แต่สามารถเพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้าและโดยสาร ซึ่งปัจจุบันรถไฟมีส่วนแบ่งการตลาดด้านการขนส่งสินค้าเพียง 3% จากปริมาณการขนส่งทั้งประเทศ และมีสัดส่วนด้านการโดยสารเพียง 2% เท่านั้น

โดยได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานของ รฟท.ว่า ผลประกอบการ หรืองบดุลในปี 2567 จะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA ต้องไม่ติดลบ และงบดุลในปีต่อไปจะต้องเป็นบวก หรือมีกำไร โดยให้ปรับแผนงานหารายได้เพิ่มจากธุรกิจทางตรงคือการขนส่งสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี

“เรื่องเพิ่มรายได้ ผมให้เป็นการบ้านรถไฟ ไปหาวิธีการทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งด้านสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งทุกวันนี้รฟท.ไม่มีฝ่ายการตลาด ไม่มีฝ่ายขายที่จะหาลูกค้าอย่างจริงจัง เป็นการให้ความสำคัญกับสายงานนี้มากขึ้น ดังนั้น ต้องไปดูว่าจะหามืออาชีพมาช่วย หรือจะเป็นเอาต์ซอร์สก็ได้ ส่วนผมในฐานะรัฐมนตรี จะช่วยประสานกับหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ หรือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการในการขนส่งสินค้ามากๆ คือจะช่วยเป็นเซลส์แมนประสานติดต่ออีกทาง ซึ่งผมจะมาตรวจการบ้าน รฟท.ทุกๆ 3 เดือน”


นายสุรพงษ์กล่าวว่า ด้านผู้โดยสารนั้น รฟท.ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2538 หรือ 28 ปีแล้ว ซึ่งจะแบ่งผู้โดยสารเป็น 2 ส่วน คือ ด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐต้องดูแลก็ให้แยกออกมา ส่วนบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 และชั้น 3 ที่พร้อมจะซื้อตั๋วที่ราคาสูงขึ้นได้ จะทำให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ผู้ว่าฯ รฟท.ต้องไปทำข้อมูลแยกออกมา ว่ามีปริมาณผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ และผู้โดยสารรถไฟท่องเที่ยว เพื่อกำหนดแผนได้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้โดยสาร


ปัจจุบันขบวนรถสินค้าที่ให้บริการ 78 ขบวนต่อวัน ในปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้า จำนวน 12.04 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ จำนวน 2,143.11 ล้านบาท

ส่วนการขนส่งเดินทางแก่ผู้โดยสาร ทั้งขบวนรถทางไกลในส่วนของรถเชิงพาณิชย์ และรถโดยสารเชิงสังคม ขบวนรถท่องเที่ยว ตลอดจนให้การรถไฟฯ เข้าไปช่วยดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผ่านรูปแบบรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันขบวนรถที่ให้บริการ 212 ขบวน/วัน แบ่งเป็นขบวนรถไฟทางไกลให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเส้นทางสายเหนือ สายใต้ สายะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนต่อวัน และขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถนำเที่ยว ที่ให้บริการที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 62 ขบวนต่อวัน นอกจากนั้น จะเป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ให้บริการระหว่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น