xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานคาดสิ้นปีนี้คลอดแผนพลังงานเอกชนหนุนเต็มพิกัดรับโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานเดินหน้าขับเคลื่อนแผนพลังงานตอบโจทย์ลดโลกร้อนหวังคลอดได้ภายในสิ้นปีนี้ หนุนเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% บวก ESS เพื่อความมั่นคง ส.อ.ท.หนุนเร่งประกาศเพื่อดึงการย้ายฐานเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2023 เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ว่า กระทรวงได้มีการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (NEP 2023) และแผนย่อย 5 แผนที่ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ฉบับใหม่ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในสิ้นปีนี้เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065

"ร่างแผนดังกล่าวได้มีการนำเสนอให้กับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พิจารณาถึงกรอบการจัดทำในเบื้องต้นแล้วคงจะต้องรอนโยบายจากท่านในรายละเอียด โดยเป้าหมายเราก็อยากจะให้เสร็จสิ้นปีนี้เพื่อให้มีความชัดเจนเพื่อที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการลดโลกร้อนและรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคเอกชนในการรับมือกับกติกาโลกที่เปลี่ยนไปที่จะเป็นอีกกลไกในการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)" นายประเสริฐกล่าว


ปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350 ล้านตัน/ปี อยู่ในภาคพลังงาน 250 ล้านตัน/ปี หากจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 จะต้องลดให้เหลือ 120 ล้านตัน/ปี และภาคพลังงานจะต้องเหลือไม่เกิน 95.5 ล้านตัน/ปี ดังนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการร่วมกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็นมากกว่า 50% หรือหากเป็นไปได้อาจมองถึง 70% ควบคู่กับการใช้ระบบกักเก็บ (ESS) รวมถึงต้องปรับกติกาที่ต้องเปิดให้กิจการพลังงานมีการแข่งขันมากขึ้น ฯลฯ

นายสารัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผนงานที่จะนำไปสู่เป้าหมายกรอบแผนพลังงานชาติเพื่อตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 ได้แก่ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) และ ESS มากกว่า 50% คงเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 เน้นการอนุรักษ์พลังงานมากกว่า 30% และการพัฒนาตามนโยบาย 4D1E

นายณัฐพล รุ่นประแสง หัวหน้ากลุ่มกำหนดและควบคุมมาตรฐานอาคารใหม่กองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ร่าง ค่าเป้าหมายแผน AEDP 2023 (ปี 66-80) ส่วนของไฟฟ้าเบื้องต้นพลังงานแสงอาทิตย์เป้าหมายปี 2580 อยู่ที่ 34,287 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 10,534 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,730 เมกะวัตต์ ลม 9,378 เมกะวัตต์ ฯลฯ


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐพิจารณาประกาศความชัดเจนถึงแผนพลังงานโดยเร็วเพื่อสร้างความชัดเจนในการดึงดูดการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเพราะทั่วโลกต่างมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์การลดโลกร้อนและมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่จะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ได้นำร่องแล้วเมื่อ 1 ต.ค.กับ 7 กลุ่มอุตสาหกรรม  

สำหรับงาน Energy Symposium 2023 โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท.ร่วมกับกระทรวงพลังงานภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยกับความผันผวนด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีพลังงานในกระแสภาวะโลกร้อน” เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิก สอท. และผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบนโยบายด้านพลังงาน สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทิศทางของแผนพลังงานชาติ ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมถึงการรองรับเทคโนโลยีพลังงานอนาคต เพื่อนำไปใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้เข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการแข่งขันในระดับประเทศ  

ทั้งนี้ พลังงานถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่พลังงานถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์พลังงานของประเทศต้องเจอกับความท้าทายในการหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีพลังงาน กระแสภาวะโลกร้อนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึงนี้อย่างเร่งด่วน

ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันให้มีการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อมุ่งเน้นการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น