“ภูมิธรรม”ประชุมคณะกรรมการรับมือเอลนีโญ แต่งตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด ติดตามประเมินสถานการณ์ ดูผลกระทบและทำมาตรการเผชิญเหตุ พีอาร์และเตือนภัย และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมยืนยัน มั่นใจเอาอยู่ หลังแผนชัดตั้งแต่ยังไม่เกิด จับตาผลกระทบมีเพียบ ทั้งต่อนิเวศน์ป่าไม้ น้ำ อากาศ ประมง การเกษตร และน้ำกินน้ำใช้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ของประเทศไทย ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อการติดตามและประเมินการเกิภาวะเอลนีโญและลานีญา คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบ ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว พร้อมมาตรการเผชิญเหตุและบรรเทาผลกระทบเบื้องต้น คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และการเตือนภัย และคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจเยี่ยมและยืนยันผลกระทบเฉพาะพื้นที่
“คณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะที่ตั้งขึ้นนี้ จะทำหน้าที่ติดตามการเกิดเอลนีโญ ซึ่งมองกันว่าน่าจะ 3 ปี หากเตรียมการไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เกษตรกร แต่เชื่อว่า จะรับมือได้ เพราะเราทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ติดตามตั้งแต่ตอนนี้ เจออะไร มีอะไรเกิดขึ้น ก็สามารถปรับแผน ปรับมาตรการรับมือได้ทันที”
สำหรับรายละเอียดในการติดตามสถานการณ์เอลนีโญ กรมอุตุนิยมวิทยา จะเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิด และหากมีสัญญาว่าจะเกิดภัยแล้งเกิดขึ้น ก็จะเร่งประกาศเพื่อให้รับรู้กันทั่วไป และจะมีการทำแผนเผชิญเหตุเป็นรูปแบบ แผน 1 2 3 และ 4 ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งแผนเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเหตุก่อน แต่จะเป็นแผนที่จะนำมาใช้รับมือ จากนั้น จะมีการพิจารณาว่าจะช่วยฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไง มีมาตรการอะไรบ้าง ส่วนเรื่องน้ำ เห็นว่า หากโครงการใดที่ยังไม่จำเป็น ก็ให้ชะลอออกไปก่อน และให้ปรับแผนมาสร้างแหล่งเก็บน้ำ จุดพักน้ำ และทำให้กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชน เกษตรกร มีน้ำกิน น้ำใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พบว่ามีผลต่อระบบนิเวศน์ป่าไม้ โดยป่าดิบชื้นจะเปลี่ยนเป็นป่าดิบแล้ง แอ่งซับน้ำตามไหล่เขาจะเหือดแห้ง ต้นน้ำไม่มีน้ำและน้ำใต้ดิน เศษใบไม้จะพอกพูนเป็นเชื้อไฟป่า เกิดไฟป่าขนาดใหญ่ หญ้าและทุ่งหญ้าจะหมดไป กระทบสัตว์กินหญ้าและสัตว์กินเนื้อ ช้างจะออกอาละวาด น้ำตกจะเหือดแห้ง ระบบนิเวศน์ทางน้ำ อ่างน้ำแห้งกระทบชลประทานและผลิตไฟฟ้า คลองหนองบึงจะแห้ง น้ำทะเลสูงขึ้น พืชน้ำจะตาย ปลาตามธรรมชาติขาดอาหาร ปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำจืดล้มตาย
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางอากาศ โดยอากาศจะร้อนและแล้งจัด ฝุ่นกระจาย PM 2.5 รุนแรง ไฟไหม้ง่ายขึ้น นกเข้ามาอาศัยตามบ้านเรือนและวัด การประมง ปลาตามธรรมชาติจะตาย ปลาในกระชัง บ่อ เลี้ยงไม่ได้ ปลาน้ำจืดขาดแคลน ราคาสูง นกน้ำจะล้มตาย พายุ ถ้ามีจะรุนแรง น้ำ หากท่วมจะท่วมเฉพาะพื้นที่ ปศุสัตวื การเลี้ยงในทุ่งทำไม่ได้ โรงเลี้ยงร้อน สัตว์จะตาย อาจเกิดโรคระบาด ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้น เนื้อสดที่ขายตามตลาดเน่าเสียเร็ว การเกษตร ไม้ผลจะตายหรือไม่มีลูก พืชไร่ เช่น ข้าว จะเหลือที่ปลูกน้อย ดินจะแข็งไถยากขึ้น ผลผลิตพืชทุกชนิดจะลดลง ราคาอาจสูงขึ้น วัชพืชเกิดเร็ว อาจมีโรคอุบัติใหม่ ผลไม้สุกเร็ว เกษตรกรอยู่ในไร่นาน้อยลง และน้ำกินน้ำใช้ จะขาดแคลนไม่พอใช้ หรือไม่มี หรือคุณภาพแย่