แทรมป์ภูเก็ตรอ 2 ปี “สุริยะ” ยันทำแน่แต่ต้องเร่งขยายถนนก่อน ชี้พื้นที่จำกัด หวั่นจราจรป่วนหนัก สั่ง รฟม.ศึกษาค่าโดยสารราคาถูกสำหรับประชาชนในพื้นที่ เล็ง แยกตั๋ว 2 ราคา เข้าสนามบินมีเซอร์ชาร์จ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ว่า ภูเก็ตมีความจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำเสนอรายงานการศึกษาโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง รวมระยะทาง 58.5 กม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน จ.ภูเก็ตมีปัญหาจราจรติดขัดและสภาพของกายภาพถนน ที่กรมทางหลวง (ทล.) เตรียมก่อสร้างขยายถนนหลายสาย โดยเฉพาะ ทล.402 ที่มีปัญหาติดขัดมาก ดังนั้น ในส่วนของระบบขนส่งรางเบา หรือแทรมป์ อาจจะยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในขณะนี้ และเห็นว่าอาจจะต้องรออีกอย่างน้อย 2 ปีจึงจะเริ่มดำเนินการเพื่อให้การปรับปรุงขยายถนนแล้วเสร็จก่อน โดยในระหว่างนี้ให้การบ้าน รฟม.ไปปรับแผนการดำเนินงาน เช่น ศึกษารถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (EV on Train) เพิ่มเติม เพื่อให้มีรูปแบบที่เหมาะสมและทันสมัยที่สุด รวมถึงประสานรูปแบบก่อสร้างกับกรมทางหลวงที่จะมีการขยายถนนด้วย
นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและไม่แพงเกินไปสำหรับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากตามแนวเส้นทางนี้มีผู้โดยสารได้ประโยชน์ 2 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยว เดินทางจากสนามบินสู่แหล่งท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ที่สามารถใช้เดินทางทุกวัน ดังนั้นหากสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สมเหตุสมผลและมีรายได้หลักเพียงพอต่อโครงการ ก็จะสามารถกำหนดค่าโดยสารกลุ่มประชาชนในพื้นที่ถูกลงได้ ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“ตอนแรกคิดว่าควรสร้างยกระดับ แต่จากที่ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบว่ากายภาพบางช่วงถนนมีพื้นที่แคบ การปักเสาโครงสร้างลงไปจะมีผลกระทบมากกว่า จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกับถนน โดยให้ประสานกับจังหวัดภูเก็ต และใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยในการจัดจราจรในเขตเมืองให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณจราจรและมีความปลอดภัย โดยหลักคือจะให้ความสำคัญต่อระบบรางก่อน” นายสุริยะกล่าว
@รฟม.รับนโยบาย วางโมเดลค่าโดยสาร 2 กลุ่ม
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า รฟม.รับนโยบายรมว.คมนาคมไปศึกษาเพิ่มเติม โดยการกำหนดอัตราค่าโดยสารนั้น ในการศึกษาเบื้องต้นได้กำหนดราคาไว้ 2 กลุ่มแล้ว โดยโครงการระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มี 21 สถานี ระยะทางประมาณ 41.7 กม.นั้น จะมีช่วงจาก ทล.402 เข้าเมือง กว่า 30 กม. และช่วงแยก ทล.402 เข้าสนามบินภูเก็ต มี 1 สถานี
เบื้องต้นกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย กรณีเดินทางขึ้น-ลงสถานีรายทาง หรือจากสถานีเมืองใหม่-สถานีฉลอง (โดยไม่เข้าสนามบินภูเก็ต), ส่วนกรณีเดินทางขึ้น-ลงที่สนามบินภูเก็ต จะกำหนดอัตรา Surcharge ซึ่งกำลังพิจารณาอัตราเพิ่มที่ 30-50 บาท ทั้งนี้ การยืดระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 2 ปีนั้น อาจจะส่งผลต่อค่าก่อสร้างที่อาจจะมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ 5-10%
“แนวเส้นทางไม่เปลี่ยน แต่จะดูรูปแบบกรณีผ่านถนน ทล.402 จุดทางแยก ทางต่างระดับ ระบบแทรมป์ จะเป็นทางลอด และคาดว่าจะเป็นแทรมป์ล้อเหล็กสำหรับระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพิษณุโลก นั้นจะรอการพัฒนาที่จังหวัดภูเก็ตให้ชัดเจนก่อนค่อยเดินหน้า”
สำหรับแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง รวมระยะทาง 58.5 กม. แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง (มี 21 สถานี ระยะทางประมาณ 41.7กม.) ระยะที่ 2 ต่อขยายเส้นทางจากจุดตัดระหว่าง ทล.402 และ 4026 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟที่สถานีรถไฟท่านุ่นโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสุราษฎร์ฯ-ท่านุ่น ของ รฟท. (มี 3 สถานี ระยะทางประมาณ 16.8 กม.)
สรุป มูลค่าเงินลงทุนกรณีเป็นล้อเหล็ก (Steel Wheel) มูลค่า 33,401 ล้านบาท (ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,770 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,217 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 3,061 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,427 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,427 ล้านบาท
กรณีเป็นล้อยาง (Rubber-Tyred) มูลค่า 32,972 ล้านบาท (ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,359 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,217 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 3,082 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,408 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,407 ล้านบาท
กรณีเป็นระบบ ART มูลค่า 22,842 ล้านบาท (ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 13,160 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,217 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 3,082 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 930 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 954 ล้านบาท
ตามการศึกษาเดิมของ สนข.กำหนดตามระยะทาง 21-168 บาท (18 บาท+ 2.5 บาท/กม.)
กรณีกำหนดค่าโดยสารคงที่ 50 บาท (ไม่เกิน 8 สถานีอัตราค่าโดยสารคงที่ 15 บาท, 9-14 สถานีอัตราค่าโดยสารคงที่ 20 บาท) ซึ่งประมาณการผู้โดยสารปีแรกที่ประมาณ 5.6 หมื่นคนเที่ยว/วัน ปีที่ 5 เพิ่มเป็น 6.9 หมื่นคน/วัน ปีที่ 15 เพิ่มเป็น 9.8 หมื่นคน/วัน และปีที่ 30 เพิ่มเป็น 1.59 แสนคน/วัน
กรณีกำหนดค่าโดยสารคงที่ 20 บาท เข้าสนามบิน บวกเพิ่ม (Surcharge) 20 บาท ประมาณการผู้โดยสาร ปีแรกที่ประมาณ 5.7 หมื่นคนเที่ยว/วัน ปีที่ 5 เพิ่มเป็น 7 หมื่นคน/วัน ปีที่ 15 เพิ่มเป็น 1 แสนคน/วัน และปีที่ 30 เพิ่มเป็น 1.6 แสนคน/วัน
แผนงานเดิม รฟม.กำหนดว่าจะปรับปรุงรายงาน PPP ในเดือน ต.ค.-พ.ย. 66, เสนอคณะทำงานมาตรา 26/บอร์ดรฟม.เดือน ธ.ค. 66-มี.ค. 67 เสนอกระทรวงคมนาคม สคร.และบอร์ด PPP และ ครม.ในเดือน เม.ย.-ต.ค. 67 คัดเลือกเอกชนเดือน พ.ย. 67-ต.ค. 68, ก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งงานระบบ พ.ย. 68-ม.ค. 73 เปิดให้บริการ ก.พ. ปี 73