กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ความสำเร็จพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์อาหาร แฟชั่น และงานแฟร์ ดันผ้าไหมไทยเข้าวงการแฟชั่นโลก ชู 22 เมนูอร่อยชุมชนดีพร้อม พร้อมจัดงานแฟร์เปิดพื้นที่โปรโมตสินค้า ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นชูผลิตภัณฑ์ เกิดผู้ประกอบการใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดโลก สร้างรายได้เข้าชุมชนต่อเนื่อง เผยเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ ประกอบด้วย 1. อาหาร (Food) 2. การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และ 3. การจัดงานแสดงสินค้า (Fair) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จและยังคงเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนให้มากขึ้น
“ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนและมีชื่อเสียง ทั้งอาหาร วัฒนธรรม การแต่งกาย เครื่องดนตรี ฯลฯ จนกลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและทั่วโลกได้รู้จักสินค้าและบริการต่างๆ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญและช่วยกันพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ในส่วนของแฟชั่นไทยผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและต่างชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเข้าไปยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ในรูปแบบใหม่ บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสามารถผลิตผ้าไหมได้ถึง 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 8 วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 7,000,000 บาท ทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น 400,000-1,700,000 บาทต่อชุมชน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน "มัดทอใจ มรดกผ้าไทยร่วมสมัย" ภายใต้โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk ) ประจำปี 2566 รวมทั้งยังมีการจัดส่งผ้าไหมไทย เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย อิตาลี และยุโรป ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างดี
ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ที่นับเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่สำคัญของไทย ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ดำเนินการจัดโครงการเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ปั้นเชฟชุมชนดีพร้อม 22 ชุมชน ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหารผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 25,000,000 บาท และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายผลและต่อยอดเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป
ด้านซอฟต์เพาเวอร์อีกส่วนที่สำคัญคือ การจัดงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ (Fair) เพื่อให้เกิดกลไกทางการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ ผ่านการจัดกิจกรรมจัดงานแฟร์ตลอดทั้งปีทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงฯ ได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้ใช้ของดีมีคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน "อุตสาหกรรมแฟร์" กระจายตามพื้นที่ต่างๆ จำนวน 14 ครั้ง สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 700 ล้านบาท โดยปี 2567 มีแผนการจัดงานแฟร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมขยายขอบเขตไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปั้นผู้ประกอบการใหม่ที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สินค้าไทยสามารถเติบโตในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจชุมชนไทย