GPSC ร่วม มทส. เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6 เมกะวัตต์ ทั้งจากหลังคาและผืนน้ำ พร้อมนำระบบดิจิทัลบริหารจัดการควบคู่ระบบกักเก็บพลังงาน หวังเป็นสถาบันศึกษาต้นแบบพลังงานและจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะ คาดประหยัดค่าไฟได้ถึง 500 ล้านบาท
นับเป็นความร่วมมือเพื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต เมื่อทางบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.จับมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดโครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้โครงการนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หรือ CHPP และบริษัท นูออโว พลัส จำกัด หรือ Nuovo Plus ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม GPSC กับ มทส. เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภายในอาคารของมหาวิทยาลัย ร่วมมือในการวิจัยพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ และยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของประเทศ
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเมื่อปี 2563 เริ่มดำเนินงานในปี 2564 จนเสร็จสิ้นและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อต้นปี 2566 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) 1.72 เมกะวัตต์ และการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) 4.28 เมกะวัตต์ พร้อมนำระบบดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเป็นโครงข่ายนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนอัจฉริยะในสถาบันอุดมศึกษา และเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบของระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grid ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ได้ในอนาคตของจังหวัดนครราชสีมา
นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GPSC ได้มีความร่วมมือกับทาง มทส. ตั้งแต่ปี 2563 โดยพยายามที่จะทำให้ มทส.ได้ใช้พลังงานสะอาด รวมถึงระบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่จะต้องเรียนรู้และสามารถที่จะใช้งานได้ จึงอยากให้นักศึกษาได้มีองค์ความรู้เพื่อต่อยอดและพัฒนา ซึ่งการที่จะเอาเทคโนโลยีมาให้ได้ลองศึกษาเองนั้นไม่ใช่ง่าย และยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ประเทศยังไม่เคยมีหรือกำลังพัฒนาอยู่ จึงเป็นจุดที่ GPSC เสนอโครงการนี้ให้กับทาง มทส.และตอนนี้ก็ได้เริ่มใช้งานแล้ว
ซึ่งโครงการดังกล่าว ทาง CHPP ผู้เชี่ยวชาญการดำเนินงานเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ดำเนินงานในส่วนของการติดตั้งทั้ง Solar Rooftop และ Floating Solar รวมทั้งออกแบบและผลิตทุ่นลอยน้ำสำหรับวางแผงโซลาร์ ขณะที่ Nuovo plus ที่มีโรงผลิตแบตเตอรี่ขนาด 30 ชั่วโมงเมกกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ได้เข้ามาดำเนินงานในระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) ขนาด 100-200 เมกกะวัตต์ ซึ่งที่นี่ถือว่า ใหญ่ที่สุดจากโรงแบตเตอรี่ที่ GPSC ดำเนินการ
นอกจากนี้ GPSC ยังได้ให้แพลตฟอร์มกับทาง มทส.ทั้ง AI ที่สามารถพยากรณ์การผลิตพลังงานจากทั้ง 2 แหล่ง รวมถึงประมาณการ (estimate) พลังงานที่จะใช้ในแต่ละตึก เพื่อดูในเรื่องของความสมดุล รวมทั้งซอร์ฟแวร์ peer to peer energy trading เพื่อใช้รองรับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าอย่างเสรีในอนาคต เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่นักศึกษาด้วย โดยคาดว่า ตลอดอายุโครงการ 25 ปี จะทำให้ มทส.สามารถประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้ถึงราว 500 ล้านบาท แต่ทั้งหมดก็เพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2569 และ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593
รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า มทส.ยินดีมาก ที่ได้ร่วมโครงการนี้กับ GPSC ซึ่งจะช่วยให้ มทส.ที่มีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ราว 5-6% หรือประมาณเดือนละ 800,000 บาท และจะประหยัดได้เพิ่มมากขึ้นหากมีการขยายโครงการในอนาคต
ทั้งนี้ มทส.ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดหวังว่า ความร่วมมือดังกล่าวกับ GPSC จะทำให้เกิดการร่วมมือกันทางวิชาการการพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องของการปรับพลังงานโซลาร์ให้เป็นพลังงานทางเลือก นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาคนให้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ รวมไปถึงด้านการวิจัย พัฒนา ต่อยอด การใช้งานในเชิงรูปธรรม และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ต่อเนื่องขึ้นไปด้วย
นายเรืองพงษ์ เรืองหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) กล่าวว่า Floating Solar เป็นนวัตกรรมที่จะมาในอนาคต เนื่องจากพื้นที่แหล่งน้ำในประเทศที่มีจำนวนมาก ซึ่งในโครงการนี้ทาง CHPP ใช้ทุ่นลอยน้ำ G Float ที่ผลิตเองจากเม็ดพลาสติกของกลุ่ม ปตท.ที่ป้องกันรังสียูวีจึงทำให้ไม่มีการปนเปื้อนลงในน้ำ มีความคงทนถาวร น้ำหนักเบา และเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วยังสามารถนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลได้ ใช้รองรับแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 540 วัตต์ ที่สามารถรับแสงอาทิตย์ได้ทั้ง 2 ด้าน ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น และยังช่วยในเรื่องของการกักเก็บน้ำได้ด้วย
ขณะที่ Solar Rooftop ที่ติดตั้งบนอาคารนั้น CHPP ได้ใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่รับแสงเพียงด้านเดียว โดยทั้ง 2 รูปแบบใช้แผงในระดับ Tier 1 ที่เป็นที่นิยม ส่วนอุปกรณ์ที่ช่วยในการสลับกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรง เป็นกระแสสลับ (Inverter) ก็ใช้ขนาด 30 , 100 และ 200 กิโลวัตต์ ตามจำนวนของแผงโซลาร์
นายลักษณะปรีชา ครุฑขุนทด ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด กล่าวว่า ทาง Nuovo plus ได้ออกแบบระบบกักเก็บพลังงาน ทั้งระบบแบตเตอรี่ ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า และระบบควบคุมการจ่ายพลังงานทั้งหมด เพื่อมาใช้สนับสนุนการเพิ่มการใช้งานของพลังงานหมุนเวียนในโครงการ โดยนำแบตเตอรี่ขนาด 216 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ที่ได้ลิขสิทธิ์จากสหรัฐอเมริกา มีความปลอดภัยมาก สามารถรีไซเคิลได้ง่าย และผลิตในไทยทั้งหมด มาใช้ในระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่เป็นส่วนเกินของการใช้งานในช่วงกลางวันเพื่อนำมาใช้งานในช่วงกลางคืน
ทั้งนี้การกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากวันที่มีแดดจัดก็สามารถเก็บได้ราว 4-5 ชม.ต่อวัน เพื่อนำไปใช้งานในเวลากลางคืนได้ แต่การกักเก็บก็ขึ้นอยู่กับการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์เกินมากน้อยเพียงใด ส่วนกักเก็บได้ปริมาณเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้เหมาะสมในการใช้งาน