นักวิชาการสิ่งแวดล้อมฯ ชี้สาเหตุปลาตายเกลื่อนตามชายหาดบางแสนและพัทยาเกิดจากแพลงก์ตอนบลูมที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำ ยันไม่ใช่เกิดจากคราบน้ำมันในทะเล
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (11 ก.ย.) สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี ได้มีการจัดหารือประเด็นแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) หรือ ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ที่เกิดขึ้นบริเวณชายหาดบางแสน บางพระ และพัทยา จนทำให้ปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด โดยมี นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมเจ้าท่าชลบุรี, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 ชลบุรี, ศูนย์วิจัย ทช., ศร.ชล. ภาคที่ 1 และ นางพนิดา จันทวัฒน์ ผู้อำนวยการ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี เข้าร่วม ณ ห้องประชุมหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี
นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าปลาตายจำนวนมากเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรง และยังทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก
"ขณะนี้ในพื้นที่บางพระ น้ำทะเลก็ยังสีเขียวอยู่มากแต่ไม่พบผลกระทบแนวปะการัง และไม่พบคราบน้ำมันจากการสุ่มเก็บตัวอย่างและการลงพื้นที่ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว"
ทั้งนี้ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงไม่ควรลงเล่นน้ำ เนื่องจากอาจมีอาการคันและระคายเคืองได้ ส่วนอาหารทะเลนั้น สามารถจับและรับประทานได้ตามปกติ
สำหรับแนวทางการแก้ไขเรื่องแพลงก์ตอนบลูมนั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ ให้ความเห็นว่า ควรให้ความรู้เกี่ยวกับแพลงก์ตอนบลูมต่อประชาชน และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 21.00 น.ได้เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันราว 6 หมื่นลิตรขณะขนถ่ายน้ำมันดิบบริเวณทุ่นผูกเรือกลางทะเลหมายเลข 2 (SBM-2) ของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือไทยออยล์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตรเพื่อไม่ให้คราบน้ำมันเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งจึงมีการขจัดคราบน้ำมันและวางทุ่นล้อมรอบ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนกำลังพลเรืออากาศยานอุปกรณ์และสารเคมีขจัดคราบน้ำมันซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล