xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปรเจกต์ไฮไลต์ 'รถไฟทางคู่เฟส 2' วงเงิน 2.75 แสนล้าน ‘สุริยะ’ เร่งลงทุนบูมขนส่งทางรางลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รถไฟทางคู่” เป็นโครงการที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ แต่เป็นเพียงนโยบายที่ก่อสร้างไม่ได้ตามแผน จนถึงยุค คสช.ต่อเนื่องรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ตลอด 9 ปี เป็นช่วงที่มีการผลักดันได้มากที่สุด มีการเริ่มก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง และรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี 2566 นี้เป็นต้นไป การมีระบบทางคู่ รถไฟไม่ต้องเสียเวลารอหลีก ทำให้การเดินทาง การขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ที่สำคัญ รถไฟจะมีต้นทุนขนส่งต่อหน่วยที่ต่ำ จะเป็นฟันเฟืองหลักในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

โดยรัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนารถไฟทางคู่ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย ได้นั่งรถไฟจากสถานีอุดรธานีไปยังสถานีหนองคาย และประกาศว่าจะเร่งผลักดันรถไฟทางคู่เฟส 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว

“งบประมาณมีการกันไว้เรียบร้อย ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกเรื่องหนึ่ง ใช้เงินไม่มากนักแต่ประโยชน์มหาศาล แต่ก็ต้องทำควบคู่กันไปกับจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ทำให้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวรับน้ำหนักได้มากขึ้น การเจรจากับลาวและต้องมีการทำวันสตอปเซอร์วิสด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน เพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมประตูการค้าระหว่างไทย-ลาวไปยังประเทศจีน” นายเศรษฐากล่าว


@“สุริยะ” ชูธงลดต้นทุนโลจิสติกส์ ต้องเร่งลงทุนรถไฟทางคู่

”สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะโฟกัสที่ระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์คิดเป็น 15% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สาเหตุเพราะใช้การขนส่งทางบกเป็นหลัก ส่วนทางรางและอากาศ ทางน้ำ มีการใช้งานเพียง 2% เท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งลงทุนเพิ่มเติมในระบบรางโดยเฉพาะ โครงการรถไฟทางคู่จะต้องไปเร่งรัดผู้รับเหมาให้เร่งก่อสร้างให้ทันเวลา ส่วนโครงการใหม่ๆ จะเร่งรัดนำเสนอเพื่อให้ครบลูป เช่น โครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เพราะเป็นเส้นทางที่สำคัญ เพราะสามารถขนส่งสินค้าไปลาวและไปถึงจีนได้ด้วยราคาต้นทุนที่ถูก

@ภาพรวมแผนพัฒนารถไฟทางคู่-ทางสายใหม่

ปัจจุบันโครงข่ายทางรถไฟมีระยะทาง 4,044 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุม 47 จังหวัด ประกอบด้วย สายเหนือ มีระยะทาง 781 กม. สายตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 1,094 กม. สายตะวันออก ระยะทาง 534 กม. สายใต้ ระยะทาง 1,570 กม. และสายแม่กลอง ระยะทาง 65 กม. เป็นทางเดี่ยวถึง 3,310 กม. (81.85%) เป็นระบบทางคู่เพียง 627 กม. (15.50%) เป็นทางสาม 107 กม. (2.65%)

ตามแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน หรือระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 3 เส้นทาง คือ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม., ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. เสร็จเมื่อปี 2562 และล่าสุด ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ก่อสร้างเสร็จปี 2565


@เฟส 1 เหลือคอขวด 69 กม. "คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ" เหตุชาวบ้านร้องปรับแบบ

ทางคู่ระยะที่ 1 ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 613 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566-2567 โดยความคืบหน้า ณ เดือน ส.ค. 2566 มีดังนี้

สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. มี 3 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง สัญญา 1 มาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. คืบหน้า 96.31% ล่าช้า 3.69% และสัญญา 3 อุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 5 กม. คืบหน้า 98.19% ล่าช้า 1.81% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566

แม้จะสร้างสัญญา 1 เสร็จแต่จะยังเปิดใช้ไม่ได้เพราะมีประเด็นที่ยังติดค้างค้างค่าเวนคืนชาวบ้าน เนื่องจากกรอบค่าเวนคืนเดิมที่ 56 ล้านบาทไม่เพียงพอ ต้องขอเพิ่มเติมอีก 286.6 ล้านบาท ประกอบกับ
พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุไปแล้ว แนวทางแก้ปัญหา รฟท.จะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาเพิ่มกรอบวงเงินค่าปรองดองการเวนคืนที่ดินบริเวณด้านหัว และด้านท้ายของอุโมงค์ โดยแบ่งเป็นใช้งบฉุกเฉิน รฟท. วงเงิน 197.38 ล้านบาท และขอจัดสรรงบประมาณ 89.25 ล้านบาท

ส่วนสัญญา 2 “คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ” ระยะทาง 69 กม. ปัจจุบันยังไม่ก่อสร้าง เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากเทศบาลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมาให้ปรับแบบก่อสร้างช่วงผ่าน อ.สีคิ้ว เป็นทางรถไฟยกระดับ (Elevated Structure) ทดแทนคันดินยกระดับ (Embankment Fill) ระยะทางประมาณ 8 กม.เพื่อลดปัญหาเรื่องการระบายน้ำ และการจราจร

เดิมสัญญา 2 ออกแบบเสร็จแล้วค่าก่อสร้างอยู่ที่ 7,060.58 ล้านบาท กรณี ต้องการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ (Elevated Structure) ตั้งแต่ทางเลี่ยงเมือง จนสิ้นสุดที่สถานีชุมทางถนนจิระ ประมาณ 5 กม. กรอบวงเงินค่าก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10,466.34 ล้านบาท และเตรียมเสนอ ครม.พิจารณา

สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. มี 2 สัญญา กำลังก่อสร้างคือ สัญญา 1 บ้านกลับ-โคกกะเทียม ระยะทาง 32 กม. ผลงาน 86.80% ล่าช้า 13.20% สัญญา 2 ท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. ผลงาน 78.65% ล่าช้า 21.35% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567

สายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. มี 2 สัญญากำลังก่อสร้าง คือ สัญญา 1 นครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. ผลงาน 97.19% ล่าช้า 2.81% สัญญา 2 หนองปลาไหล-หัวหิน ระยะทาง 76 กม. ผลงาน 98.00% ล่าช้า 2.00% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566

สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. มี 2 สัญญากำลังก่อสร้าง คือ สัญญา 1 ประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย ระยะทาง 88 กม. ผลงาน 93.63% ล่าช้า 6.37% สัญญา 2 บางสะพานน้อย-ชุมพร ระยะทาง 79 กม. ผลงาน 96.92% ล่าช้า 3.08% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566

สำหรับทางรถไฟสายใหม่ จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 677 กม. ได้แก่ สายหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 322 กม. เริ่มงานเมื่อ 15 ก.พ. 2565 (ระยะเวลา 71 เดือน) มี 3 สัญญา ดังนี้

สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ผลงาน 1.16% เร็วกว่าแผน 0.31% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571
สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ผลงาน 2.59% เร็วกว่าแผน 0.03% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571
สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ผลงาน 1.76% เร็วกว่าแผน 0.22% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2571

สายอีสาน บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. เริ่มงานเมื่อ 16 มี.ค. 2565 (ระยะเวลา 48 เดือน) มี 2 สัญญา ดังนี้

สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ผลงาน 0.21% ล่าช้า 0.12% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570
สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ผลงาน 0.01% ล่าช้า 0.08% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570


@ ทางคู่ระยะที่ 2 ออกแบบเสร็จแล้ว พร้อมขออนุมัติ

สำหรับรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 275,303.78 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้วทั้ง 7 เส้นทาง พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอขออนุมัติโครงการ ได้แก่

1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ถือเป็นเส้นทางในเฟส 2 ที่มีความสำคัญในลำดับแรก เนื่องจากเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้

สถานะ ปัจจุบันพร้อมเสนอ ครม. โดยรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 และได้รับความเห็นจาก กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว จึงพร้อมเสนอครม.

2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท สถานะ รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2563

3. ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท สถานะ รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565

4. ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล รายงาน EIA

5. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,29.36 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566

6. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566

7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561


@ชาวอุดรฯ ค้านทางคู่ระดับดิน ร้องปรับแบบช่วงแยกบ้านจั่น

สำหรับรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย แม้จะมีความพร้อม สามารถนำเสนอขออนุมัติ ครม.ได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงยังมีประเด็นที่ต้องเร่งหาทางออก กรณีชาวอุดรธานีคัดค้านแบบก่อสร้างรถไฟระดับดิน ที่แยกบ้านจั่น จุดตัดทางหลวงที่ 216 โดยเรียกร้องให้ รฟท.แก้ไขแบบเป็นรถไฟทางคู่ยกระดับ เพื่อขนส่งสินค้าผ่านเมืองอุดรธานีแบบยกระดับข้ามเมือง

บริเวณเมืองอุดรธานีนั้น รฟท.ได้ออกแบบทางรถไฟยกระดับตั้งแต่ทางรถไฟ กม.565+225 ไปสิ้นสุด กม. 575+154 ส่วนบริเวณแยกบ้านจั่น จุดตัดทางหลวงที่ 216 ช่วง กม.564+ 369 ออกแบบเป็นระดับดิน ซึ่งชาวอุดรธานีเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ในการส่งสินค้าให้กับโรงปูนเพียงรายเดียว ขณะที่จุดตัดรถไฟทำให้รถติด ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก

แม้กรมทางหลวงออกแบบสร้างสะพานยกระดับข้ามรถไฟทางคู่ ความยาวถึง 980 เมตรไว้แล้วก็ตาม ชาวอุดรต้องการให้รถไฟยกระดับข้าม ทล.216 ซึ่งหากต้องปรับรูปแบบเป็นทางยกระดับตามข้อเรียกร้องของชาวอุดรฯ จะต้องทำรายงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด EIA ใหม่ โครงการมีค่าก่อสร้างเพิ่ม และโครงการต้องล่าช้าไม่สามารถเสนอขออนุมัติได้ตามแผน


รถไฟทางคู่ เฟสแรก 7 เส้นทาง รัฐบาล "ประยุทธ์" ต้องใช้เวลาถึง 9 ปีผลักดัน วันนี้เริ่มเห็นความสำเร็จแล้ว ส่วนเฟส 2 อีก 7 เส้นทาง รัฐบาล "เศรษฐา" ประกาศเดินหน้าแน่นอน ส่วนจะเริ่มสร้างเมื่อใด อีกกี่ปีเสร็จ ไม่มีใครตอบได้ แต่เมื่อรถไฟทางคู่เสร็จตามแผน จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น