นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ทุเรียนเขาจ้าว” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบปลูกในพื้นที่ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี ซึ่ง สศท.10 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต พบว่า “แปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว” นับเป็นตัวอย่างการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ทีประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2566 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลการประกวดแปลงใหญ่ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2566 เริ่มรวมกลุ่มเมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 1,030 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 55 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 37 ราย และอยู่ระหว่างการขอรับรอง 4 ราย ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ได้มีการจัดอบรมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับการผลิตทุเรียนเข้าระบบเกษตรอินทรีย์ และอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สิน ทางปัญญา โดยคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียน GI ภายในปี 2566
สถานการณ์ผลิตของแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว พบว่า เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากเป็นพันธุ์ ทางการค้าเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการ ซึ่งในปีแรกของการลงทุนมีต้นทุนเฉลี่ย 23,800 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าต้นพันธุ์ ค่าดูแลรักษา และอื่น ๆ ปีที่ 2 -3 มีต้นทุนเฉลี่ย 22,100 บาท/ไร่/ปี ต้นทุนลดลงเนื่องจากเกษตรกรไม่มีค่าเตรียมดิน ค่าปลูก และค่าต้นพันธุ์ และเมื่ออายุทุเรียนเข้าสู่ปีที่ 4 - 6 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มให้ผลผลิตจะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 19,600 บาท/ไร่/ปี เนื่องจากลดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมน/อาหารเสริมให้กับต้นทุเรียน โดยเกษตรกรนิยมปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน สภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้า ให้ผลผลิตเฉลี่ย 990 กิโลกรัม/ไร่ (ทุเรียนหมอนทอง 1 ลูก มีน้ำหนักประมาณ 2 – 4 กิโลกรัม) ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 190 - 200 บาท /กิโลกรัม เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 193,050 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 173,450 บาท/ไร่/ปี
สำหรับปี 2566 ผลผลิตทุเรียนเขาจ้าวของแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว ทยอยออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม จำนวนทั้งหมด 350 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ (คิดเป็นร้อยละ 44 ของผลผลิตทุเรียนเขาจ้าวทั้งจังหวัด) ด้านภาพรวมสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายในพื้นที่และที่สวนให้กับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือนักท่องเที่ยวทั่วไป และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จำหน่ายทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook ของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com โดยมีการรับประกันคุณภาพ หากทุเรียนเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งหรือทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทางกลุ่มแปลงใหญ่จะเครมให้กับผู้ซื้อทุกราย
สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว ได้ดำเนินการผลิตทุเรียนแบบครบวงจร สร้างอัตลักษณ์ภายใต้แบรนด์ “ทุเรียนเขาจ้าว” โดยได้รับการผลักดันจากอำเภอปราณบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอปราณบุรี ในการสนับสนุนด้านการเพาะปลูก การตลาด การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลอดจนมาตรฐานของสินค้าเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ นอกจากนี้ กลุ่มแปลงใหญ่ได้นำเทคโนโลยี ถุงห่อ Magik Growth มาใช้เพื่อช่วยให้ลดแมลงศัตรูพืชและลดการกัดแทะจากสัตว์ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสะสมน้ำหนักแห้ง ผลสวย สีผิวสวย ไม่มีสารเคมี และการทำเกษตรตามหลัก BCG Model ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตดีเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงกลุ่มแปลงใหญ่ยังนำทุเรียนตกเกรดมาเริ่มทดลองแปรูปสินค้า อาทิ ทุเรียนทอด ทุเรียนเชื่อม ทุเรียนฟรีช ข้าวเกรียบทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน ทั้งนี้ในอนาคตมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และส่งเสริมให้เกษตรกรขายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาด กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว ร่วมกับที่ว่าการอำเภอปราณบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาจ้าวได้มีการจัดงานเทศกาลทุเรียนเขาจ้าวและของดีอำเภอปารณบุรี ณ ที่ว่าการอำเภอปราณบุรี ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตทุเรียนเขาจ้าวของแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่นายชาตรี จาบกัน ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนเขาจ้าว โทร 09 0447 2336 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอปราณบุรี โทร 0 3262 1786 หรือ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 อีเมล zone10@oae.go.th