กทพ.เตรียมชง “รมว.คมนาคมคนใหม่” เคาะ TOR ทางด่วน 'จตุโชติ-ลำลูกกา' 2.4 หมื่นล้าน หลังศึกษาเปรียบเทียบงานโยธาระหว่าง 4 สัญญา กับ 2 สัญญา ตามความเห็นอดีต รมต.คนก่อนที่แนะเพิ่มมาตรการปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง คาดประมูล ก.ย.นี้
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม.ว่า หลังจากแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้ว กทพ.เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขอรับทราบนโยบายจะให้เดินหน้าอย่างไร โดยขณะนี้โครงการฯ มีความพร้อม ทั้งเรื่องเอกสารการประกวดราคา หรือทีโออาร์ เงินลงทุนค่าก่อสร้าง สามารถประกาศประกวดราคาได้ทันที โดยเงินลงทุนโครงการประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือทั้งหมดจะใช้วิธีระดมทุน
รายงานข่าวจาก กทพ.เปิดเผยว่า ตามแผนงานเดิม กทพ.เตรียมจะประกาศประกวดราคาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 โดยจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา แยกเป็นงานโยธา 4 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา ต่อมากระทรวงคมนาคม โดยรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้กทพ.ทบทวนปรับปรุง โดยลดงานโยธาจาก 4 สัญญา เหลือ 2 สัญญา เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง จึงอยากให้ผู้รับจ้างเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง ขณะที่หากแบ่งย่อยงานโยธาออกเป็นหลายสัญญา วงเงินค่าก่อสร้างไม่สูง ผู้รับเหมารายย่อยสามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้มากกว่า 10-20 ราย หากมีการตัดราคาและชนะการประกวดราคาอาจจะเกิดปัญหาทั้งเรื่องแรงงานโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ถ้าเหลือเพียง 2 สัญญา วงเงินค่าก่อสร้างจะสูงขึ้น ผู้รับเหมาที่จะเข้าร่วมประกวดราคาเหลือ 5-10 รายซึ่งเป็นรายใหญ่และมีผลงานการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และง่ายต่อการกำกับดูแล
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคม กทพ.ต้องชะลอการเปิดประกาศประกวดราคาออกไปก่อนเพื่อจัดทำร่างทีโออาร์ใหม่ ขณะนี้จัดทำเสร็จแล้วและส่งให้ผู้ว่าการ กทพ. เพื่อเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่พิจารณาตัดสินจะเลือกรูปแบบการประกวดราคางานโยธา โดยมีการเปรียบเทียบรายละเอียดรูปแบบงานโยธา 4 สัญญา และแบบ 2 สัญญา ประกอบการพิจารณา
เมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบ ตามขั้นตอน กทพ.จะลงประกาศรับฟังความเห็นร่างทีโออาร์ ระยะเวลา 7 วัน หากไม่มีการปรับแก้จะประกาศประกวดราคาทันที คาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ และได้ตัวผู้รับจ้างภายในสิ้นปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณกลางปี 2567 เนื่องจากต้องรอการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนที่ดิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก่อนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบก่อนประกาศใช้ โดยจะต้องได้พื้นที่ก่อสร้างมากกว่า 40% ขึ้นไปจึงจะทยอยส่งมอบให้ผู้รับเหมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเป็นเหตุให้ผู้รับเหมาขอขยายสัญญาในภายหลัง