“พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช” เช็กข้อเท็จจริงทันที หลังมีกระแสข่าวชาวสวนนำมังคุดมาเทที่หน้าอำเภอพรหมคีรี พบกลุ่มที่นำมาเทไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานใด คาดแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมังคุดที่เท เป็นมังคุดขนาดเล็ก ไม่ได้คุณภาพ บางส่วนบริโภคไม่ได้ ยันไม่ได้ทอดทิ้ง มีมาตรการดูแลต่อเนื่อง ทุกวันนี้ยังประสานผู้ประกอบการเข้าซื้อ ล่าสุดผลผลิตออกแล้ว 70% เหลืออีกแค่ 2 หมื่นตันก็จะหมดฤดูกาล
นางประไพ เพชรพงศ์พันธุ์ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวเกษตรกรชาวสวนมังคุดอำเภอพรหมคีรีบรรทุกมังคุดมาเททิ้งหน้าอำเภอพรหมคีรี เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากราคามังคุดตกต่ำเหลือกิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท ว่า จากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ากลุ่มผู้เรียกร้องไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้แก่หน่วยงานใด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ เมื่อราคามังคุดตกต่ำ และทราบข้อเท็จจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นเกษตรกรชาวสวนมังคุด และมังคุดที่นำมาเท เป็นมังคุดขนาดเล็ก ไม่ได้คุณภาพ บางส่วนไม่สามารถบริโภคได้
ทั้งนี้ จากการที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อมังคุดของกลุ่มประมูลและจุดรับซื้อทั่วไป ณ วันที่ 1 ก.ย. 2566 เกรดมันใหญ่ ราคา 33-37 บาท/กก. เกรดมันเล็ก ราคา 23-27 บาท/กก. เกรดผิวกาก/ผิวลาย ราคา 20 บาท/กก. และเกรดตกไซส์/ผิวดำ ราคา 15-17 บาท/กก. และราคาซื้อขาย ณ จุดรับซื้อทั่วไป เกรดมันรวม ราคา 25-30 บาท เกรดคละ 13-20 บาท
“ราคามังคุดขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิต ซึ่งการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งเพื่อทำมังคุดคุณภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และนำผลผลิตมารวมเพื่อใช้ระบบประมูล จะทำให้มีการแข่งขันด้านราคา และเพิ่มอำนาจการต่อรองทำให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ในช่วงปลายฤดู ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและมีผลกระทบจากฝนตกในพื้นที่ จึงมีเนื้อแก้วและยางไหลร่วมด้วย ส่งผลให้คุณภาพและราคาลดลง” นางประไพกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำนักงานพาณิชย์จังหวัด จะร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ และชั่งตวงวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หากพบการกระทำผิดในการรับซื้อมังคุดจากเกษตรกร จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
สำหรับสถานการณ์ผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดฤดูกาลมีจำนวน 43,533 ตัน ออกสู่ตลาดแล้วจำนวน 30,500 ตัน หรือร้อยละ 70 ที่เหลือยังคงทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณผลผลิตมากที่สุดอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 21-31 ส.ค. 2566 มีปริมาณ 6,500 กว่าตัน โดยที่ผ่านมากรมการค้าภายในร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำผู้ประกอบการ ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก รับซื้อผลผลิตจากกลุ่มประมูลมังคุดคุณภาพ และจากเกษตรกรโดยตรง ไปเปิดจุดจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร ผ่านรถโมบายล์พาณิชย์ จำนวนทั้งหมด 100 จุด และต่างจังหวัดอีก 120 จุด รวม 220 จุด ปริมาณ 1,100 ตัน และล่าสุดเหลือมังคุดรุ่นที่ 2 อีกประมาณ 20,000 ตันเศษ ซึ่งจะช่วยเร่งระบายผลผลิตให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องต่อไป