xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความท้าทาย ครม. "เศรษฐา 1" ฝ่ามรสุม ศก.ชะลอตัว-โลกแบ่งขั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา 1” เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นแม้ว่าส่วนหนึ่งคุ้นหน้าคุ้นตา แต่ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไทยและต่างชาติที่มองว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง....หลังต้องเจอภาวะสุญญากาศหลังการเลือกตั้งมาแล้ว 3 เดือน โดยคาดว่ารัฐบาลชุดนี้จะเริ่มปฏิบัติงานได้ราวปลายเดือน ก.ย. 66

หากมองย้อนกลับเศรษฐกิจไทยปี 2566 เริ่มต้นเหมือนสดใสเพราะกลไกของการท่องเที่ยวฟื้นตัว ...แต่กลับกลายเป็นว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด แถมเครื่องยนต์หลักอย่าง "ภาคส่งออก" กลับทรุดต่ำ โดยตัวเลขล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยการส่งออกเดือน ก.ค. 66 ของไทยมีมูลค่า 22,143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ส่งผลให้ส่งออก 7 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.5% จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้นตลอดปี 2566 ส่งออกไทยจึงติดลบแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อยก็ต้องรอลุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชนในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกมีการชะลอตัว โดยภาครัฐติดลบ 1.1% และเอกชน 1% ภาพรวมจึงทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.8% ชะลอตัวลงจากขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกและทั้งปี 2566 ทำให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงปรับคาดการณ์ GDP ทั้งปีเหลือเพียง 2.5-3% ลดลงจากจากประมาณการเดิม 2.7-3.7%

แก้ปัญหาปากท้อง! ความท้าทายรัฐบาลใหม่

เศรษฐกิจไทยปี 2566 หากชำแหละลงลึกไปและเป็นปัญหาใหญ่สุดที่รัฐบาลจะต้องทำให้กับคนทั้งประเทศในการปูฐานเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไปหนีไม่พ้น “ปากท้องชาวบ้าน” เพราะเวลานี้คนไทยส่วนใหญ่ในระดับฐานรากกำลังเผชิญกับรายได้ไม่พอรายจ่าย สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงใหม่ล่าสุดมียอดคงค้างราว 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของ GDP

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปี 2566 นี้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบประมาณ 80.2% และอีก 19.8% เป็นหนี้นอกระบบซึ่งนับเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่รอวันปะทุ .....เพราะนั่นแหมายถึงแรงซื้อคนไทยที่จะบริโภคสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นกำลังอ่อนแอลงทุกขณะ สะท้อนจากหนี้เสียในรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น

ค่าครองชีพประชาชนคนไทยที่สูงขึ้นนั้นได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนถึงปัจจุบันที่ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ได้พาเหรดสูงขึ้นทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค และดูเหมือนว่าหลายรายการยังคงไม่ได้ปรับลดลงแม้ภาพรวมต้นทุนต่างๆ ได้ลดลงแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับต้นทุนทางด้านพลังงานภาพรวมขยับขึ้นสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ราคาน้ำมัน ...

ท่ามกลางรายจ่ายที่สูงขึ้น ...รายได้ของประชาชนของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด-19 ที่ตกงานกันเป็นทิวแถว จึงน่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้นอกระบบสูงขึ้น แม้วันนี้ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวแต่การจ้างงานก็ยังคงกลับมาไม่เต็มที่ ขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกที่ก่อนหน้าเป็นตัวหลักการจ้างงานก็เริ่มแผ่วหลังส่งออกชะลอตัว มีการลดกะทำงาน เหล่านี้ทำให้รายได้ประชาชนตึงตัวแบบขีดสุด.....การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลระยะเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีคือ ต้องมองในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย


จับตานโยบายเร่งด่วน 100 วัน

เมื่อพิจารณาถึงนโยบายภายใต้การนำพรรคเพื่อไทยที่มีการชี้แจงเบื้องต้นมี 2 เรื่องเร่งด่วนที่ทำทันทีใน 100 วันแรกหรือระยะควิกวินที่เกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้าน ว่าด้วย 1. การเร่งแก้ไขหนี้ประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร และภาควิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยหนี้เกษตรกรนั้นถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่สุดซึ่งพรรคเพื่อไทยมีการชี้ช่องทางไว้แล้วที่รัฐจะจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทนเกษตรกร 3 ปี ส่วนเอสเอ็มอีจะมีการช่วยในเรื่องพักหนี้ เป็นต้น 2. เร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ทั้งลดค่าไฟ ราคาน้ำมัน ฯลฯ

หากนโยบายดังกล่าวปฏิบัติได้จริงก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในแง่ของราคาพลังงานนั้นต้องไม่ลืมว่าภาระหนี้ของเดิมที่สะสมไว้จากการตรึงราคามีไม่น้อยไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงแบกรับค่าเชื้อเพลิงเอาไว้ให้ราวแสนล้านบาทที่จะต้องทยอยจ่ายคืน ....เช่นเดียวกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังคงมีฐานะสุทธิติดลบราว 55,091 ล้านบาท ซึ่งภาระเหล่านี้ต้องวางสมดุลเพราะหากใช้วิธีการแบบนี้ต่อไปสุดท้ายก็จะวนกลับมาให้ประชาชนแบกรับหาใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ..ดังนั้นจึงต้องผสมผสานกับการแก้ไขในเชิงโครงสร้างราคาพลังงานโดยรวม

นอกจากนี้ ในเรื่องของราคาสินค้า และค่าโดยสารต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ มีการปรับตัวลดลง จำเป็นที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งเข้าไปศึกษาต้นทุนภาพรวมของสินค้าต่างๆ ว่ามีการปรับลดลงในอัตราที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพราะราคาสินค้าเวลาปรับขึ้นจะอ้างจากค่าขนส่งที่ผลักดันจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน และต้นทุนวัตถุดิบ แต่เมื่อราคาน้ำมันอ่อนตัวลงอย่างมากไม่เคยเห็นการปรับลดราคาลง เช่นเดียวกับค่าโดยสารในภาพรวม เป็นต้น

ขึ้นค่าแรง 600 บาท/วัน ความท้าทายปีนี้


นโยบายพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลได้ชูการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวันในปี 2570 เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชน ก็ดูเหมือนว่าได้ถูกค้านจากภาคนายจ้างไปพอสมควรนับตั้งแต่หาเสียง และแม้ว่านโยบายนี้จะนำมาสู่ภาคปฏิบัติจริงหลังการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแต่ทางเอกชนส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า ปี 2566 ที่เหลือไม่กี่เดือนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปไม่ได้เลยท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการปรับในอัตราขั้นบันไดในปี 2567-2570 เพื่อไปสู่เป้าหมาย 600 บาทต่อวันก็ยังคงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อีกพอสมควร นโยบายนี้จึงนับเป็นความท้าทายไม่น้อย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะลดรายจ่ายและมีนโยบายที่จะเพิ่มรายได้ โดยระบุไว้เบื้องต้นในการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย รวมไปถึงการดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยมากขึ้นและแสวงหาตลาดใหม่ๆ ที่จะขยายการส่งออกไทยให้มากขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายสูงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวและอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และล่าสุดยังส่งสัญญาณที่จะไปต่อจนทำให้หลายฝ่ายมีการประเมินว่าธนาคารสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะล้มละลายเพิ่มอีก ส่วนไทยเองแม้จะไม่ได้ปรับขึ้นตามเฟดทั้งหมดแต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ....เหล่านี้ล้วนเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง


โลกแบ่งขั้วความท้าทายในการวางสมดุล

เศรษฐกิจไทยปี 2566 ชัดเจนว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และนโยบายด้านต่างประเทศก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันท่ามกลางโลกที่แบ่งขั้ว การวางสมดุลเพื่อรักษาตำแหน่งของไทยในเวทีการค้าโลกจึงเป็นความท้าทายอีกส่วนที่ต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังการประชุมกลุ่มประเทศ “BRICS” ครั้งที่ 15 เมื่อ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะไม่เพียงเป็นการพบปะผู้นำ 5 ประเทศอย่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ เท่านั้น

แต่การประชุมคราวนี้ยังมีมติขยายจำนวนประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 6 ประเทศด้วยกัน อันได้แก่ อาร์เจนตินา อียิปต์ อิหร่าน เอธิโอเปีย ยูเออี หรือสหพันธรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รวมถึงอภิมหาเศรษฐีน้ำมันแห่งโลกและตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่ากลุ่ม BRICS คือขั้วอำนาจใหม่ของโลกและเป็นความท้าทายของอาเซียน

สำหรับไทยแล้วยังมีทั้งผู้สนับสนุนแบบเข้าร่วมเต็มสูบ กับผู้ที่ขอให้ไทยต้องชั่งน้ำหนักให้ดีโดยขอให้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ก่อน เนื่องจากกลุ่ม BRICS มีแนวคิดจะใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดบทบาทดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการเข้าร่วมอาจถูกสหรัฐฯ ไม่ไว้วางใจและอาจกระทบสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน.....ดังนั้นไทยจึงต้องวางสมดุลให้ดีพร้อมกับติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯเนื่องจากมีบางฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดฟองสบู่แตกในปลายปีนี้และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่หลายฝ่ายจะเข้ากลุ่ม BRICS เพิ่มขึ้นหรือไม่ .....

เศรษฐกิจโลกวันนี้หลังเกิดโควิด -19 อาจกล่าวได้ว่ากำลังขับเคลื่อนด้วยหนี้ เมื่อดอกเบี้ยตีกลับทุกภาคส่วนจึงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และเมื่อผสมโรงกับสงครามทางการค้าที่ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้น แม้วันนี้การสู้รบรัสเซีย-ยูเครนเองก็ยังไม่ได้มีทีท่าจะยุติลง เหล่านี้ก็ล้วนมาจากเพราะโลกแบ่งขั้ว...และแต่ละฝั่งอยู่ระหว่างการวัดกำลังหาผู้ชนะ ดังนั้นไทยในฐานะประเทศเล็กๆ จึงจำเป็นต้อง ยืนระยะให้ได้ ... จนกว่าจะได้ฝ่ายขั้วอำนาจที่คุมกติกาโลกที่ชัดเจน..

ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของ ครม.เศรษฐา 1 จึงมีความท้าทายในหลายเรื่องรออยู่ทั้งระดับจุลภาคและมหภาค รวมไปถึงการคุมกระทรวงต่างๆ ก็มาจากหลายพรรคค มาตรการที่จะเข็นออกมาจึงต้องเห็นไปในทางเดียวกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือควรมุ่งสร้างความยั่งยืน ขณะเดียวกันคนไทยต้องเรียนรู้ถึงบทเรียนโควิด-19 ระมัดระวังการใช้จ่ายเอาไว้ยามวิกฤตจะได้ไม่เดือดร้อน หรือหากจะเดือดร้อนก็จะเบาบาง....
กำลังโหลดความคิดเห็น