ทอท.เปิดเวทีฟังความเห็นลุยออกแบบ "ดอนเมือง เฟส 3" วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าประมูลปี 67 เร่งตอกเข็มอาคารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสารอินเตอร์ ทยอยเปิดปี 72 ก่อน เผยผู้โดยสารรวมพุ่ง ดอนเมืองทะลุ 7 หมื่นคน/วัน, สุวรรณภูมิ 1.7 แสนคน/วัน
วันที่ 29 สิงหาคม 2566 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 งานจ้างสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ว่า ตามแผนพัฒนาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินั้น มีวงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท โดยจะขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจากปัจจุบันที่ 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการแล้วเมื่อปี 2565
ทอท.จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท AEC & Partners เป็นที่ปรึกษา เพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ วงเงิน 623 ล้านบาท เริ่มงานวันที่ 10 ส.ค. 2566 มีระยะเวลาดำเนินการรวม 2,700 วัน แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 งานออกแบบรายละเอียดระยะเวลา 420 วัน (14 เดือน) ช่วงที่ 2 งานสนับสนุนการก่อสร้างระยะเวลา 2,280 วัน (76 เดือน)
ทั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการฯ สำหรับนำความเห็นไปประกอบในการออกแบบโครงการฯ ให้มีความเหมาะสม โดยมีผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น ผู้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ และผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ทั้งภายในและภายนอกท่าอากาศยานร่วมการประชุม
สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 2567 เริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 บริเวณด้านทิศใต้ (อาคารในประเทศหลังเก่า) พัฒนาเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่ 1.4 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) คาดจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2570 จะสามารถรองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี
และดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อให้บริการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ประมาณ 22 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ จะดำเนินการปรับปรุงระบบการจราจรบริเวณชานชาลาผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกในการเข้า-ออกท่าอากาศยาน รวมไปถึงก่อสร้างทางเชื่อมจากทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าสู่ชานชาลาหน้าอาคารผู้โดยสารโดยตรง
โดยมีรายละเอียดของงานประกอบด้วย
กลุ่มงานที่ 1 งานพัฒนาด้านทิศใต้ เช่น งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 และงานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร
กลุ่มงานที่ 2 งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ และงานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ รวมไปถึงอาคารสำนักงานสายการบิน และอาคารรับรองพิเศษ VVIP
กลุ่มงานที่ 3 งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน เช่น งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือพร้อมทางขับเชื่อม ปรับปรุงลานจอดภายใน และปรับปรุงพื้นที่ทิศเหนือเป็นเขตการบิน
กลุ่มงานที่ 4 งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบิน หมายเลข 2-4
กลุ่มงานที่ 5 งานสนับสนุนโครงการพัฒนา ได้แก่ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
@ผู้โดยสารพุ่ง ดอนเมืองทะลุ 7 หมื่นคน/วัน, สุวรรณภูมิ 1.7 แสนคน/วัน
นายกีรติกล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารสนามบิน 6 แห่งของ ทอท. รวมประมาณ 3 แสนคนต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารจำนวน 1.6-1.7 แสนคนต่อวัน และคาดว่าช่วงปลายปี 2566 จะมีเกือบ 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนผู้โดยสารในระดับเดียวกับในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ส่วนสนามบินดอนเมือง ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 7 หมื่นคนต่อวัน
ขณะที่ผู้โดยสารรวมทั้ง 6 แห่ง ช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ประมาณ 4-4.5 แสนคนต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะกลับไปในระดับดังกล่าวในปี 2567