xs
xsm
sm
md
lg

ปตท. ร่วมเปิด Solar Rooftop สุวรรณภูมิ ต้นแบบสนามบินรักษ์โลกแห่งแรกในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท. ร่วม ทอท. และ 3 องค์กรเปิดโครงการติดตั้ง Solar Rooftop หลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หวังเป็นต้นแบบสนามบินรักษ์โลกแห่งแรกในไทย คาดลดอุณหภูมิภายในได้มากกว่า 7 องศา ประหยัดมากกว่า 11 ล้านบาทต่อปี แถมลดปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 3,600 ตันต่อปี ชูนโยบาย 3 เร่ง ตั้งเป้า NET ZERO ก๊าซเรือนกระจกไวกว่าปี 2065

นับเป็นก้าวอีกขั้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่กำลังจะกลายเป็นสนามบินรักษ์โลกแห่งแรกในไทย ล่าสุด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เปิดโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Solar Rooftop) อย่างเป็นทางการ โดยมี นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. , นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.), นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วม


ทั้งนี้ โครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 4.4 MW (เมกะวัตต์) บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์มาพัฒนาใช้หมุนเวียนภายในท่าอากาศยาน

โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนพัฒนาและทดสอบหลากหลายขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับสากล อีกทั้งยังได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด , สมาคมนักบินไทย , สถาบันการบินพลเรือน , กรมอุตุนิยมวิทยา , คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน , กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมั่นใจได้ว่า จะเกิดประโยชน์สูงสุด ปลอดภัย ไม่กระทบต่อตัวอาคาร รวมทั้งไม่กระทบต่อการบินและการควบคุมการจราจรทางอากาศ ตามกฎขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังคาดว่า โซลาร์เซลล์จะสามารถลดความร้อนภายในอาคารผู้โดยสารได้มากกว่า 7 องศา ลดการใช้พลังงานระบบความเย็นภายในอาคารได้ 2% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3,600 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับจำนวนต้นไม้ 360,000 ต้นต่อปีที่ต้องใช้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ ทอท.ได้วางเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 50 MW ซึ่งเท่ากับปริมาณไฟฟ้า 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของท่าอากาศยาน บนอาคารต่างๆ รวมถึง Floating Solar บนพื้นน้ำในเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


ซึ่งทาง นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มั่นใจว่า โครงการนี้นับเป็นหนึ่งโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ก้าวสู่การเป็นสนามบินต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Airport) แห่งแรกในไทย นอกจากนี้ ทอท.ยังให้ความสำคัญต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเดินทาง การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาอาคารผู้โดยสารเป็นแนวคิดที่จะนำพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโครงการรักษ์โลกที่จะนำไปสู่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมทางการบินอย่างยั่งยืน


ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลายบทวิเคราะห์ต่างชี้ว่า โลกจะได้เห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในปี 2593 โดยปัญหาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติของการสร้างฐานทางธุรกิจของประเทศ ได้มีการนำประเด็นนี้ไปใช้เป็นฐานในการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า ซึ่งไม่สามารถหลีกหนีได้ หลายบริษัทจึงต้องปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว


ส่วนการที่ประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าจะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (NET ZERO) ภายในปี 2608 นั้น นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทาง ปตท. ได้นำโจทย์ดังกล่าวเป็นตัวตั้ง โดยได้สร้างแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาเพื่อตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วกว่าเป้าของทางรัฐบาล เพื่อช่วยค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยได้นำนโยบาย 3 เร่งมาใช้ คือ เร่งปรับ เร่งเปลี่ยน และเร่งปลูก ซึ่งทาง ปตท. ก็ได้ปรับแผนธุรกิจ ทั้งเตรียมลงทุนตั้งโรงงานเพื่อดักจับคาร์บอนไดออกไซด์นำมาใช้ประโยชน์ Carbon Capture Utilization (CCU) และกำลังร่วมกับรัฐบาลในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Capture and Storage (CCS) ในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นทางรอดของประเทศในประเด็นดังกล่าว


นอกจากนี้ ปตท. และบริษัทในเครือยังเตรียมปลูกป่าเพิ่มเติมจากเดิมที่ปลูกแล้ว 1 ล้านไร่ เพิ่มอีก 2 ล้านไร่ เป็น 3 ล้านไร่ โดยคาดว่าหากแล้วเสร็จจะช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ได้รวม 4 ล้านกว่าตันต่อปี รวมไปถึงการลงทุนด้านพลังงาน ที่ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2573 จะต้องมีพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนให้ได้อย่างน้อย 15,000 เมกกะวัตต์ และกำลังศึกษาในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน รวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์ อีกด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น