xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ถกคณะทำงานรับมือเอลนีโญ วางกรอบติดตามข้อมูล ยันยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปลัดพาณิชย์”ถกคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนัดแรก วางกรอบการติดตามข้อมูลที่จะมีผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งฝน น้ำ ภาวะภัยแล้ง ให้รายงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่หากเร่งด่วนให้รายงานทันที เผยปีนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ เหตุยังไม่พบมีปัญหา แต่ปีหน้า ต้องประเมินอีกที พร้อมมอบทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัดติดตามข้อมูลการผลิต การค้า ความต้องการอย่างใกล้ชิด

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัด เป็นครั้งแรก โดยได้มีการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องสถานการณ์น้ำ สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับการบริโภค และความมั่นคงด้านอาหาร

“ได้หารือร่วมกันว่า มีข้อมูลตัวไหนที่จะต้องติดตาม และจะติดตามอย่างไร ทั้งข้อมูลในประเทศ และต่างประเทศ ตัวไหนมีความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องฝน เรื่องน้ำ ภาวะภัยแล้ง และกำหนดให้รายงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์เร่งด่วน ก็ต้องรายงานทันที เพื่อให้มองเห็นภาพว่าแนวโน้มจะเกิดอะไรขึ้น จะได้เตรียมรับมือได้ทัน เป็นการวางแผนล่วงหน้าเชิงรุก ไม่ใช่การตั้งรับ”

นายกีรติกล่าวว่า ปีนี้ มองว่า ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมา เพราะผลกระทบจากเอลนีโญในปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา โดยเบื้องต้นจะต้องติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำ ช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ปีหน้า ที่หลายฝ่ายมองว่า จะเริ่มเกิดภาวะภัยแล้ง ก็ต้องมีการติดตามกันต่อไป และหากจำเป็น ก็จะเป็นเรื่องที่จะต้องมาพิจารณาว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา ทั้งในเรื่องการส่งออก การนำเข้า แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณอะไร

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จำนวน 58 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูก การบริโภค ความต้องการสินค้าเกษตร ในประเทศที่ตนเองประจำอยู่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ได้รับรายงานมาแล้ว เช่น อินเดีย มีการห้ามส่งออกข้าวขาว เวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ มีมาตรการติดตามผลกระทบจากกรณีที่อินเดียใช้มาตรการอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา และเริ่มมีความต้องการซื้อข้าวและสินค้าเกษตรจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนพาณิชย์จังหวัด ก็ต้องติดตามภาวะการเพาะปลูก สถานการณ์การผลิตในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลง และมีแนวโน้มมีปัญหาหรือไม่

สำหรับผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ประเมินแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะไทยปลูกข้าวใช้บริโภคในประเทศครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออีกครึ่งสำหรับส่งออก และผลผลิตในแต่ละปี ก็เพิ่มขึ้นลดลงเป็นปกติอยู่แล้วตามสภาพฝนและน้ำ แม้จะไม่เกิดภาวะภัยแล้ง มันสำปะหลัง มีแนวโน้มลดลง จากการเกิดโรคใบด่างและภัยแล้ง แต่ไม่มีปัญหาในเรื่องผลผลิตขาดแคลน เพราะไทยยังสามารถนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน ประเมินแล้ว ยังไม่พบว่ามีปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น