xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โชว์ผลงานจากศูนย์เรียนรู้ฯ ในงาน “ปลูกต้นไม้ เติมความรู้ มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” หวังต่อยอดสร้างแหล่งเรียนรู้คู่สังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกเหนือจากภารกิจหลักการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ปตท.ยังคงให้ความสำคัญต่อการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ล่าสุด ปตท.เปิดบ้านต้อนรับเครือข่าย นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ ร่วมงานเสวนา “ปลูกต้นไม้ เติมความรู้ มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” เวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การสร้างพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่อยู่คู่กับสังคมอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ พร้อมเร่งเดินหน้ากลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีนายสนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. เป็นประธานเปิดงาน


นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ปตท. กล่าวว่า งานเสวนา “ปลูกต้นไม้ เติมความรู้ มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยหน่วยแผนกลยุทธ์และบริหารโครงการกลุ่มงานบริหารศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่า เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เรียนรู้ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพมหานครฯ และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งได้มีการพัฒนาและรวบรวมความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการงานวิจัยภายในศูนย์เรียนรู้รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

“ในส่วนของ ปตท. ได้มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2050 โดยกลยุทธ์ ‘ปรับ เปลี่ยน ปลูก’ (3P) ขับเคลื่อนธุรกิจ ปตท.มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมถึงการพลิกฟื้นพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ที่มีความเสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่ป่านิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย”


ที่ผ่านมา ปตท.ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยริเริ่มดำเนินการปลูกป่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 จากผลสำเร็จของโครงการได้ถูกพัฒนาต่อยอดสู่การจัดตั้งสถาบันปลูกป่าของ ปตท. เพื่อดำเนินงานฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้เป็นระบบนิเวศที่ยั่งยืน ยกระดับการให้ความรู้ทางวิชาการ และสร้างความตระหนักผ่านการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญจำนวน 3 แห่ง คือ

1. ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพมหานคร ดำเนินการในพื้นที่ 12 ไร่ เปิดให้เยี่ยมชมตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลูกป่าแบบผสมผสานในพื้นที่ สะสมพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของกรุงเทพฯ และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่คนเมือง รวมทั้งผลักดันให้ผู้เยี่ยมชมตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศและสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง

2. ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง ดำเนินการในพื้นที่ 351.35 ไร่บนพื้นที่ดินของ ปตท. โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 เปิดบริการให้ประชาชนผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันได้พัฒนาศูนย์เรียนรู้ให้เป็นพื้นที่สาธิตปลูกป่า วิจัยฟื้นฟูป่าในหลากหลายรูปแบบให้สอดคล้องกับการจัดการป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

3. ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ. ประจวบคีรีขันธ์ บนพื้นที่ทั้งหมด 786 ไร่ โดยเปิดเป็นพื้นที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจำนวน 50 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า และป่าคลองคอย ในท้องที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เกิดจากการพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนจากพื้นที่นากุ้งร้าง โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิชาการ งานวิจัยต่างๆ ตลอดจนการต่อยอดใช้ประโยชน์จากไม้ป่าชายเลน


“ปตท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ผ่านมาการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 3 แห่งได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้เยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการขึ้นมาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในนามของศูนย์เรียนรู้ฯ โดยหวังว่างานเสวนาวิชาการในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาจะได้รับความรู้และประสบการณ์ดีๆ สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป” นายวรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของศูนย์เรียนรู้ฯ รวมไปถึงผลการดำเนินงานด้านงานวิจัยองค์ความรู้ในพื้นที่ พร้อมเปิดพื้นที่ Workshop จากวัสดุธรรมชาติ เช่น การทำน้ำยาล้างผัก การทำที่คั่นหนังสือจากธรรมชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งบูทแสดงสินค้าจากเครือข่ายร้านค้าชุมชน เช่น เครือข่ายคนรักคุ้งบางกะเจ้า ชุมชนดอกไม้ ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมและเกมให้ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พร้อมของรางวัลอีกมากมาย ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนภายนอกเป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น