xs
xsm
sm
md
lg

อะเมซิ่ง “วนอุทยานปราณบุรี” พื้นที่ชีวิตทรงคุณค่า ใต้พระบารมีพระพันปีหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ทุ่งโปรงทอง ไฮไลต์ต้องห้ามพลาดแห่งวนอุทยานปราณบุรี
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

หนึ่งในพระราชกรณีกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็คือโครงการพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ผืนป่าของเมืองไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “วนอุทยานปราณบุรี” อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

โครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี ใต้พระบารมี


วนอุทยานปราณบุรี ผืนป่าใต้พระบารมี จากป่าเสื่อมโทรมที่ถูกพลิกฟื้นกลายมาเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ป่าชายเลนบริเวณด้านทิศเหนือของแม่น้ำปราณบุรี ได้ถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม

ในปี พ.ศ. 2517 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร บริเวณหมู่บ้านปากน้ำปราณบุรี ทรงมีความสนพระทัยเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลน และทรงมีพระราชเสาวนีย์สนับสนุนให้มีการปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ บริเวณชายทะเลปากน้ำปราณบุรี เพื่อพัฒนาเป็นป่าอเนกประโยชน์ผลิตไม้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป้องกันลมพายุ และเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงอนุบาลสัตว์น้ำ

จากโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สู่วนอุทยานปราณบุรีในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ กรมป่าไม้ จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ในปี 2517 ครอบคลุมพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า คลองคอย ประกอบด้วย ป่าชายเลน และมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ป่า ซึ่งภายหลังได้มีการจัดตั้งเป็น “วนอุทยานปราณบุรี" เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2525

ทุ่งโปรงทองอันอุดมสมบูรณ์
โครงการดังกล่าวใต้พระบารมี ทำให้ผืนป่าบริเวณนี้ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และมีการปลูกป่าเพิ่มเติม จนค่อย ๆ พลิกฟื้นกลายเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากจะมากไปด้วยเหล่าสรรพชีวิตของสัตว์ พืชแล้ว เป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นหนึ่งในพื้นที่สีเขียวสำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว-เรียนรู้ ชั้นดีของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

วนอุทยานปราณบุรี ตื่นตาป่าชายเลนแห่งชีวิต


วนอุทยานปราณบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ พื้นที่สวนหนึ่งจัดสรรเป็นแหล่งท่องเที่ยว-เรียนรู้ มีไฮไลต์คือ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน” ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าวเยื้อง ๆ กับ ลานจอดรถและสำนักงานวนอุทยาน

เส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ ทอดยาวผ่านป่าชายเลนอันร่มรื่น
เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี เป็นดังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติกลางแจ้ง มีระยะทางประมาณ 1,000 เมตร (1 กิโลเมตร) สร้างเป็นทางเดินวนรอบทอดยาวไปในพื้นที่ป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ที่มากไปด้วยความหลากหลายของสรรพชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเช้าประมาณ 6.00-10.00 น. ช่วงเย็น 16.00-18.00 น.

ระหว่างเดินชมธรรมชาติ ต้องไม่ทิ้งขยะและก่อมลภาวะต่าง ๆ และโปรดเดินด้วยความสงบ ไม่ส่งเสียงดัง เพราะนอกจากจะเป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวคนอื่นแล้ว ยังอาจจะพลาดเห็นของดีวิถีของสัตว์ต่าง ๆ ที่ออกหากินในผืนป่าชายเลนอีกด้วย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติฯ สร้างแบบเคารพในธรรมชาติ
จุดเริ่มต้น (และสิ้นสุด) ของเส้นทางจะเป็นซุ้มศาลา จะนั้นจะเป็นสะพานทางเดินชมพื้นป่าชายเลน ระหว่างทางจะมีป้ายสื่อความหมาย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับป่าชายเลน ไปเป็นระยะ ๆ โดยแสดงให้เป็นถึงลักษณะเด่นของป่าชายเลนปากน้ำปราณบุรี

พืช-สัตว์ เด่น ๆ ของวนอุทยานปราณบุรี ซึ่งมี 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ

โกงกางหยั่งรากแน่นหนาในพื้นที่สันดอนงอกใหม่
1.สังคมพืชสันดอนงอกใหม่ เป็นส่วนพื้นที่ปากแม่น้ำหรือสันดอนทรายงอกใหม่ริมทะเล และสันดอนเลนงอกใหม่ริมทะเลที่มีลักษณะเป็นดินเลนชั้นหนาหลวม ๆ ริมฝั่งทะเล หรือ “ชะวากแม่น้ำ” บริเวณสันดอนงอกใหม่จะพบพืชจำพวก ลำพู ลำแพน (สันดอนทราย) ที่มีรากหยั่งลึกลงไปในพื้นทรายพร้อมรากหายใจแบบเข็มหมุดหรือแผ่แบนคล้ายแผ่นกระดาน และโกงกางใบใหญ่ (สันดอนเลน) ที่มีรากแผ่ค้ำยันช่วยยึดเหนี่ยวต้นไม้ในพื้นเลนได้เป็นอย่างดี

โกงกางใบเล็กในป่าเลนต่ำ
2.สังคมพืชป่าเลนต่ำ อยู่ถัดจากสันดอนงอกใหม่เข้าในแผ่นดิน พื้นที่มักเป็นแอ่งที่ลุ่มดักตะกอนหรือลานโคลนน้ำทะเลท่วมถึงที่ถูกตะกอนพัดพามาสะสมทั้งจากน้ำจืดและน้ำทะเล บริเวณนี้ถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของทั้งสัตว์และพืช โดยจะพบโกงกางใบเล็กที่มีรากค้ำยันแผ่กว้างอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีหอยต่าง ๆ รวมถึงหอยนางรมเกาะอาศัยอยู่ตามรากโกงกาง มีปูแสม ปูดำ รวมถึง “กุ้งดีดขัน” หรือ “กุ้งดีดนิ้ว” อยู่เป็นจำนวนมาก

ป่าเลนสูง
3.สังคมพืชป่าเลนสูง เป็นพื้นที่ถัดจากป่าเลนต่ำลึกเข้าในแผ่นดิน มีลักษณะเป็นชั้นดินเลนหนายกตัวสูงพ้นน้ำทะเลท่วมถึง ดินเลนจึงแห้งแข็งและอัดแน่น บริเวณป่าเลนสูงเป็นแหล่งรวมของเศษซากใบไม้ที่ร่วงหล่นตกลงมาจากที่สูงและไหลลอยมาทางทะเล ถือเป็น “ดงขยะซากอินทรีย์” ทั้งของแผ่นดินและทะเลรวมกัน

พื้นที่ป่าเลนสูงจะพบพืชจำพวก โปรงต่าง ๆ ฝาด ตะบูน ตะบัน มีปูนานาชนิด รวมถึงมีสัตว์บกที่หนีน้ำได้อย่างมด รวมถึงปลวกที่มีส่วนสำคัญในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ยังพบ “แม่หอบ” สัตว์เฉพาะถิ่นหายาก (พบไม่กี่แห่งในเมืองไทย) ที่อยู่ลึกลงไปในใต้ดินแต่จะขุดดินขึ้นมาที่ปากรูสะสมเป็นกองคล้ายจอมปลวก เรียก “จอมแม่หอบ” ซึ่งนี่นับเป็นหนึ่งในสัตว์สำคัญที่ช่วยเปลี่ยนป่าเลนต่ำให้กลายเป็นป่าเลนสูง ส่วนใครถ้ามาเดินที่นี่แล้วมีโอกาสพบเจอแม่หอบตัวเป็น ๆ นั้นถือว่าโชคดีสุด ๆ

ทางเดินชมทุ่งโปรงทองในป่าเลนสูง
4.สังคมพืชป่าตะกาด เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่ลึกสุดในแผ่นดิน มีลักษณะตื้นเขินจนกลายเป็นที่ดอน น้ำทะเลท่วมถึงได้น้อยมาก พร้อมมีคราบเกลือกระจายไปทั่วทำให้พื้นดินเค็มจัด พบพืชจำพวก ชะคราม ดองดึง ผักเบี้ยทะเล และเสมา เป็นต้น

นอกจากระบบนิเวศน์ของพื้นที่ป่าชายเลน 4 แบบแล้ว ที่นี่ยังมี “แพรก” ที่เป็นเส้นทางธรรมชาติที่คอยเติมธาตุอาหารให้กับสัตว์และพืชในป่าชายเลน ขณะเดียวกันก็นำผลผลิตจากป่าชายเลนออกสู่ทะเล อย่าง เช่น “ปูดำ” หรือ “ปูทะเล” ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์

คลองเก่า แพรกขนาดใหญ่
นอกจากนี้ในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยังมี “คลองเก่า” เป็นแพรกขนาดใหญ่ ที่ไหลเชื่อมไปออกทะเลที่ปากอ่าว หรือ “ปากน้ำปราณ

คลองเก่านอกจากจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารสำคัญของชาวชุมชนที่อาศัยคลองนี้เลี้ยงปลาในกระชัง จับปู ดักกุ้ง เก็บหอยนางรมแล้ว ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี

กิจกรรมล่องเรือชมป่าชายเลน
นักท่องเที่ยวสามารถลงเรือที่คลองเก่า นั่งเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน ป่าโกงกางร้อยปี วิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้าน และการทำประมงร่วมสมัยที่ปากอ่าว โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ “ศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง” อันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวชุมชนปากน้ำปราณเป็นไฮไลท์สำคัญของเส้นทางล่องเรือ (ค่าเรือจากจุดลงเรือคลองเก่า 1-4 คน/450 บาท, 1-6 คน/500 บาท)

ขณะที่ไฮไลต์ต้องห้ามพลาดของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี ก็คือ “ทุ่งโปรงทอง” ในพื้นที่ป่าเลนสูง กับป่าโปรงทองที่มีต้นโปรงทองขึ้นหนาแน่นเต็มบริเวณเป็นทุ่งกว้าง

ทุ่งโปรงทอง ไฮไลต์ต้องห้ามพลาดแห่งวนอุทยานปราณบุรี
ต้นโปรงทองจำนวนมากของที่นี่จะเติบโตมีขนาดไล่เลี่ยกัน ทำให้ไม่สามารถแย่งแสงแดดทางด้านความสูงได้ ธรรมชาติจึงสรรสร้างให้เรือนยอดต้นโปรงทองที่นี่ขยายไปทางด้านข้างเพื่อรับแสง หรือที่เรียกว่าเรือนยอดแบบ “ร่มหุบ” ซึ่งทางวนอุทยานปราณบุรี ได้ทำ “หอชมวิว” ให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์ของทุ่งโปรงทองในมุมสูง

หอชมวิวทุ่งโปรงทอง
เมื่อมองลงมาจากหอชมวิวจะเห็นป่าโปรงทองใบสีเขียวอ่อนอมเหลืองขึ้นเต็มแน่นบริเวณ มีสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติทอดตัวหายเข้าไปในป่าโปรงที่ด้านซ้ายมีภูเขาตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง นับเป็นองค์ประกอบความงามแห่งไฮไลต์ของวนอุทยานปราณบุรีที่ผู้มาเยือนที่นี่ต้องห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

หาดปราณคีรี
นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนแล้ว วนอุทยานปราณบุรียังมี “หาดปราณคีรี” เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยว-สันทนาการอันโดดเด่นของวนอุทยานแห่งนี้

หาดปราณคีรี เป็นแนวชายหาดทอดตัวรูปพระจันทร์เสี้ยวโค้งยาว ถัดเข้ามาเป็นผืนป่าชายหาดที่ร่มรื่นไปด้วยต้นสนทะเลและสนปฏิพัทธ์ มีเส้นทางจักรยานให้ปั่นออกกำลังกายริมชายทะเลท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงาม

เส้นทางจักรยานในสวนสนบริเวณหาดปราณคีรี
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของวนอุทยานปราณบุรี หนึ่งในผืนป่าใต้พระบารมี อันเนื่องมาจากพระราชประสงค์ของ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งวันนี้ได้ถูกพลิกฟื้นจากป่าเสื่อมโทรมให้กลับกลายเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ นับอีกหนึ่งพื้นที่แห่งสรรพชีวิตอันทรงคุณค่าของเมืองไทย


################################


วนอุทยานปราณบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 081 880 6959


เส้นทางเดินชมธรรมชาติในป่าเลนสูง

แพรก เส้นทางธรรมชาติที่คอยเติมธาตุอาหารให้กับสัตว์-พืช ในป่าชายเลน

สีสันชีวิตในป่าชายเลนวนอุทยานปราณบุรี

สีสันชีวิตในป่าชายเลนวนอุทยานปราณบุรี

ศาลาทางเข้า-ออก เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี




กำลังโหลดความคิดเห็น