การบินไทยโกยกำไรสุทธิครึ่งปี 66 กว่า 1.47 หมื่นล้านบาท เฉพาะไตรมาส 2 มีกว่า 2.27 พันล้านบาท กำไรต่อเนื่อง 4 ไตรมาส เป้าทั้งปีผู้โดยสาร 9 ล้านคน รายได้ 1.6 แสนล้านบาท มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูเร็วขึ้น กลับไปเทรดหุ้นปลายปี 67 ตุนเงินสดสะสมกว่า 5.1 หมื่นล้านพร้อมจ่ายหนี้ปีหน้า
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุด (Low Season) ในช่วงปี โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%
มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 760%) โดยไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่มีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี ขณะที่มีกำไรสุทธิที่ 2,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% ส่วนผู้ถือหุ้น ติดลบ 56,253 ล้านบาท
สำหรับผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.ปี 2566) บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 141%) มีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 584% โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 6,457 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 329%
นายชายกล่าวว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 66 สูงกว่าคาดการณ์ และมีกำไรติดต่อกัน 4 ไตรมาสแล้ว ซึ่งสะท้อนจากการปรับตัว การปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ และลูกค้ายังมีความมั่นใจ ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะทำให้บริษัทฯ ออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่าที่คาด ประมาณ 1 ไตรมาส และหุ้น THAI ยื่นกลับมาซื้อขายใน ตลท.ปลายปี 67 จากเดิมจะออกจากแผนฟื้นฟู ไตรมาส 4 ปี 67 และหุ้น THAI กลับมาซื้อขายใน ตลท. เดือน ก.พ. 68
@เงินสดสะสมกว่า 5.1 หมื่นล้าน เตรียมพร้อมจ่ายหนี้ปี 67 ราว 1 หมื่นล้าน
บริษัทฯ มีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 66 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 65 ซึ่งเงินสดคงเหลือเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับจ่ายหนี้ตั้งแต่ปี 67 ซึ่งมีภาระวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะที่ ยังไม่จำเป็นต้องจัดหาทุนหรือกู้เงินใหม่ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ขออนุมัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ
สำหรับปี 2566 ตั้งเป้ารายได้ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งรอบ 6 เดือนมีรายได้แล้ว 78,889 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายผู้โดยสารที่ 9 ล้านคน รอบ 6 เดือน มี 6.87 ล้านคนปัจจุบันมีเฉลี่ยประมาณ 7 แสนคน/เดือน
ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยเพิ่งรับเครื่องบินแอร์บัส A350-900 แบบลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ จากทั้งหมด 11 ลำ โดยที่เหลือ 9 ลำจะรับมอบในไตรมาส 1 ปี 67 และเช่าดำเนินการ เครื่องบินทำการเช่าเครื่องบินแอร์บัส A321neo จำนวน 12 ลำ เริ่มรับมอบในปี 69 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับอีก 30% ส่วนหนึ่งจะทดแทนเครื่องแอร์บัส 320 จากไทยสมายล์ที่หมดสัญญาเช่า
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2%
ปัจจุบันบริษัทฯมีพนักงานประมาณ 15,000คนตามแผนขยายความสามารถและเพิ่มฝูงบินจะต้องเตรียมพนักงานคาดปลายปีจะมีประมาณ 17,000คน (รวมพนักงานจากไทยสมายล์แล้ว )โดยทยอยเพิ่มทั้งส่วนลูกเรือจ้างเพิ่ม500คนและจ้างOutsourceด้านช่างด้านบริการภาคพื้นและพนักงานประจำสำนักงานบางส่วนตามความจำเป็น
ซึ่งจากการเปิดรับสมัครได้รับความสนใจจากภาคแรงงานพอสมควรแสดงให้เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นยังมั่นใจในบริษัทฯค่อนข้างมาก
@ศึกษา MRO หาผู้ร่วมทุนใหม่
สำหรับการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) นั้น บริษัทฯ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงแผนการหาผู้ร่วมทุนใหม่เพื่อเร่งดำเนินการ ซึ่งการลงทุน MRO อู่ตะเภา อยู่ในแผนฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว หลังจากนี้บริษัทจะทำการศึกษาการลงทุนและแผนธุรกิจ และนำเสนอขอความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ต่อไป
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ การบินไทย กล่าวว่า ยอดจองตั๋วเส้นทางต่างประเทศยังแข็งแรง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระทบ ส่วนปัจจัยการเมืองภายในประเทศไทยยังไม่มีผลต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยผ่านกรุงเทพฯ สู่ปลายทางจังหวัดท่องเที่ยว เชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต ขณะที่รัฐไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน กระทบต่อเส้นทางภายในประเทศ ซึ่งทุกสายการบินมีการปรับกลยุทธ์ด้านราคาเหมือนกัน
ปัจจุบันการบินไทยมีสัดส่วนผู้โดยสารจากยุโรป 37% เอเชีย โซนญี่ปุ่น เกาหลี 33% อินเดีย บังกลาเทศ 10% และจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ประมาณ 7% โดยมีการเพิ่มความถี่รองรับความต้องการที่เพิ่มต่อเนื่อง ส่วนไตรมาส 3 ปี 66 ที่ยังคงมีช่วง Low season อยู่ประมาณ 2 เดือนจะมีการจัดแคมเปญในตลาดที่มีความสำคัญเพื่อกระตุ้นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง