“จุรินทร์” โชว์ผลงาน 20 ปี ส่งเสริมสินค้า GI ดันขึ้นทะเบียนสินค้าชุมชนได้รวม 189 รายการ สร้างรายได้ให้กว่า 300,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 51,000 ล้านบาทต่อปี เผยล่าสุดกาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในญี่ปุ่นแล้ว ส่วนญี่ปุ่นได้ขึ้นทะเบียน GI เนื้อทาจิมะ และเนื้อคาโงชิมะ ในไทย พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้มีคุณูปการกับวงการ GI ไทยในสาขาต่างๆ รวม 5 ราย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงาน “GI 20/20 Mission : 20 ปี กับก้าวต่อไปของ GI ไทย” จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีการก่อตั้งระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ที่โรงแรมโฟร์ซีซันส์ กรุงเทพฯ แอท เจ้าพระยาริเวอร์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ว่า ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า GI เป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าท้องถิ่นกว่า 189 สินค้าทั่วประเทศ สร้างมูลค่าทางการตลาดกว่า 51,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าปล่อยให้เป็นสินค้าขายปกติในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มูลค่าตกไม่เกิน 20,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้มูลค่าต่อปีเพิ่มไปกว่า 30,000 ล้านบาท หรือตัวสินค้าที่เพิ่มมูลค่าสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 200% ก็มี คือ ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาที่ชื่อว่า GI และทั้งหมดนี้ 189 รายการสินค้าสามารถครอบคลุมประชากรไทยทั้งประเทศกว่า 300,000 ครัวเรือน
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น จัดพิธีมอบประกาศขึ้นทะเบียน GI สินค้าไทยและญี่ปุ่น โดยสินค้า GI ไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น คือ กาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง และสินค้า GI ญี่ปุ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย คือ เนื้อทาจิมะ และเนื้อคาโงชิมะ รวมทั้งจัดกิจกรรมให้คำปรึกษากลยุทธ์ด้านการตลาดต่างประเทศ แก่ผู้ประกอบการ GI โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
นอกจากนี้ ได้มอบรางวัลสุดยอดผู้สนับสนุน GI ไทย (GI Best Support Award) ให้แก่ผู้มีคุณูปการกับวงการ GI ไทยในสาขาต่างๆ ประกอบด้วย สาขากฎหมายและการคุ้มครอง GI ไทย ได้แก่ นางปัจฉิมา ธนสันติ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้วางรากฐานระบบ GI ไทย สาขาสนับสนุนชุมชน GI ไทยอย่างยั่งยืน ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด สาขาส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้า GI ไทย ได้แก่ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) สาขาผู้ประกอบการ GI ไทยต้นแบบ ได้แก่ นายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้ประกอบการสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สาขาสร้างมูลค่าเพิ่ม GI ไทย ได้แก่ นายปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ นักออกแบบมือรางวัลระดับประเทศ ที่มาร่วมพัฒนารูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ GI ไทยให้มีความทันสมัย สวยงามระดับพรีเมียม
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมเสิร์ฟความอร่อยผ่านเมนูที่รังสรรค์จากวัตถุดิบ GI ไทยกว่า 20 รายการ และเมนูสุดพิเศษจากเชฟชุมพล แจ้งไพร ในเมนู “ข้าวแกงของไทย GI แห่งสยาม” ที่ใช้วัตถุดิบหลักเป็นปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา และยังมีเมนูของหวานที่ทำจากน้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่น้ำกะทิจากมะพร้าวทับสะแก และเมนูอาหารจากวัตถุดิบ GI ของไทยอีกหลายรายการ และในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการสินค้า GI ไทย และต่างประเทศอีกกว่า 30 รายการ เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา เหล้าเหมาไถกุ้ยโจวและเครื่องปั้นดินเผาเนื้อขาวเต๋อฮว่าจากจีน เนื้อคาโงชิมะจากญี่ปุ่น ไวน์ วิสกี้ ชีส น้ำมันมะกอก น้ำส้มสายชูหมักจากประเทศในภูมิภาคยุโรป เป็นต้น รวมถึงนิทรรศการตลาดจริงใจฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ในเครือเซ็นทรัลฟู้ด ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางจำหน่ายสินค้า GI ที่สำคัญ โดยในปี 2567 มียอดสั่งซื้อสินค้า GI จากเซ็นทรัลฟู้ดมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท