xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ ขนสินค้าชุมชน BCG 88 ราย ขายคนกรุงที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดงาน DBD SMART Local BCG ณ ลาน Eden ห้างสรรพสินค้า Central World นำสินค้าชุมชนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำนวน 88 รายมาจัดแสดงและจำหน่ายให้คนกรุงได้เลือกซื้อ เผยสินค้าไฮไลต์ ข้าวฮางกาบาพลัส กระเป๋าหนังผลิตจากใบไม้ เสื้อมัดย้อมจากมูลวัวนม น้ำมะเขือเทศสกัดแท้ 100% ออร์แกนิก ตั้งเป้ายอดขายและเจรจาการค้าไม่ต่ำกว่า 32 ล้านบาท

นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน DBD SMART Local BCG ณ ลาน Eden ห้างสรรพสินค้า Central World ระหว่างวันที่ 12-16 ก.ค. 2566 ว่า กรมฯ ได้นำผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนภายใต้การส่งเสริมในโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำนวน 88 ราย จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในเมืองกรุงที่รักชุมชน รักษ์โลก ได้มีโอกาสเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่า

สำหรับสินค้าทั้ง 88 ราย แยกเป็นกลุ่ม Bio Economy จำนวน 22 ราย เป็นการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า นำนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต การใช้ระบบ SMART Farming เช่น สินค้าข้าวฮางกาบาพลัสที่ใช้นวัตกรรมการผลิตแช่ข้าวแบบน้ำหมุนช่วยเพิ่มสารกาบา มีกลิ่นหอม และเพิ่มสารอาหารให้ข้าวทุกเมล็ดมีมากขึ้น

กลุ่ม Circular Economy จำนวน 32 ราย เป็นการออกแบบการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากที่สุด (Zero Waste) ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น สินค้ากระเป๋าหนังที่ผลิตจากวัสดุใบไม้แก่ที่ร่วงหล่นมาผสมผสานกับยางพาราธรรมชาติ กลายเป็นแผ่นหนังลวดลายใบไม้ที่สวยงามทันสมัย


กลุ่ม Green Economy จำนวน 34 ราย ธุรกิจสีเขียวลดการใช้สารเคมี ลดการปล่อยมลพิษ สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าเสื้อมัดย้อมที่ใช้มูลวัวนมในฟาร์มโคนมท้องถิ่น พร้อมด้วยลวดลายสไตล์ธรรมชาติจากใบไม้รังสรรค์เป็นเสื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสินค้าน้ำมะเขือเทศสกัดแท้ 100% ปลูกแบบออร์แกนิกในกระถาง กางมุ้ง ไร้สารเคมี ผ่านมาตรฐานสินค้าเกษตร Q และ GMP

ทั้งนี้ กรมฯ ได้ตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางการตลาด และเจรจาซื้อขายสินค้าภายหลังจบกิจกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 32 ล้านบาท

สำหรับโครงการ DBD SMART Local BCG เป็นโครงการที่กรมฯ ได้เข้าไปคัดเลือกผู้ประกอบการชุมชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต้องเป็นของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น และตรงตามหลัก S-M-A-R-T คือ ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative), มีการผลิตสินค้าที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern), คงเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive), สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และต้องมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust)


กำลังโหลดความคิดเห็น