xs
xsm
sm
md
lg

กทท.ถกแก้ปัญหารถติด "ท่าเรือแหลมฉบัง" เร่งจัดพื้นที่จอดรถบรรทุก-เคลียร์สินค้าตกค้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.ถกแก้ปัญหารถติด "ท่าเรือแหลมฉบัง" เร่งต่อยอดระบบ Truck Q เชื่อมโยงข้อมูลสายเรือ-ขนส่งทุกโหมด เพิ่มประสิทธิภาพ และประมูลจุดพักรถบรรทุก 90 ไร่ ผู้ประกอบการร้องแก้ปัญหาสินค้าตกค้างในเทอร์มินัลกว่า 1,000 ตู้ เล็งคุยกรมศุลฯ จัดพื้นที่ส่วนกลาง

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือตามแผนปฏิบัติการด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ กทท. และความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ว่า กทท.ได้เชิญผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ท่าเรืออเนกประสงค์ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบัง มาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ พร้อมกันนี้ กทท.ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อร่วมมือในการยกระดับการทำงานร่วมกันและการให้บริการที่ตอบโจทย์ในด้านโลจิสติกส์ทั้งระบบ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

โดยประเด็นสำคัญที่หารือคือ การแก้ปัญหาการจราจรติดขัด สาธารณูปโภค พื้นที่ลานวางตู้สินค้าและถนนชำรุดในพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง และความคืบหน้าของโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) เป็นต้น 


ในการแก้ปัญหาจราจรติดขัดในท่าเรือแหลมฉบังนั้น กทท.มีโครงการพัฒนา Port Community System (PCS) เป็นการบริหารจัดการโลจิสติกส์ท่าเรือแบบครบวงจรเชื่อมโยงอัตโนมัติเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการขนส่งสินค้าทางเรือ มีการวางระบบ Truck Q การจองคิวเพื่อจัดคิวรถบรรทุกสอดคล้องกับตารางของสายเดินเรือ ในการเข้ามารับส่งตู้สินค้าที่ไม่ต้องเสียเวลา และเกิดปัญหาจราจรติดขัดซึ่งพัฒนาเฟสแรกแล้ว

ส่วนการพัฒนาระยะต่อไป ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้าในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งโดยการเชื่อมโยงข้อมูล การขนส่งหลักหลายรูปแบบ ทั้งการนำเข้าและส่งออก สายเรือ บูรณาการข้อมูลกับผู้ประกอบการท่าเรือ รถบรรทุก รถไฟ และผู้ให้บริการคลังสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะมีการบริหารจัดการเวลาช่วงปริมาณรถและสินค้าไม่หนาแน่นจะลดค่าบริการเพื่อส่งเสริมให้เกลี่ยมาใช้ในช่วงดังกล่าว”


นอกจากนี้ กทท.จะเร่งพัฒนาพื้นที่ 90 ไร่ บริเวณท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นจุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) เพื่อลดปัญหาการจราจรทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น บริการโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ สำหรับรถบรรทุกที่เข้ามารอเวลารับ-ส่งสินค้าจากสายเรือ มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้เช่าพัฒนาพื้นที่ได้ในปี 2566

"พื้นที่พักคอยนี้ แม้จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากรถบรรทุก แต่จะประหยัดกว่าเมื่อเทียบกับกรณีที่ต้องเสียเวลากับรถติดที่มีเฉลี่ย 200 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งปีนี้มีเรือขนาดใหญ่เข้าท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น และมีปริมาณการขนส่งรถยนต์เพิ่มขึ้น 30% จาก 8 แสนคันเป็น 1 ล้านคัน"


เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) กล่าวว่า ปัญหาในส่วนที่ผู้ประกอบการนำเสนอคือ การจัดการสินค้าตกค้าง (Long Stay) ภายในเทอร์มินัล เนื่องจากเป็นสินค้าที่กรมศุลกากรอายัดไว้ มีทั้งสินค้าเกษตร สินค้าแช่แข็ง สินค้าอันตราย รวมๆ ประมาณ 1,000 กว่าตู้ เป็นภาระของผู้ประกอบการ ไม่สามารถจัดการพื้นที่ได้ และมีต้นทุนการดูแลสินค้า ส่วนสายเรือมีปัญหาไม่สามารถนำตู้ไปใช้ประโยชน์ และหากคดีสิ้นสุดแล้วก็อาจจะมีปัญหาหาผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายไม่ได้อีก ซึ่งกรณีล่าสุดมีสินค้าสุกรแช่แข็ง 160 ตู้ ที่มีปัญหากรมศุลกากรยังไม่ตรวจปล่อย

กทท.จะหารือกับกรมศุลกากร และผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา โดยพิจารณาจัดหาพื้นที่ใหม่ เช่น พื้นที่ใกล้กับสถานี X- Ray ของศุลกากร ประมาณ 15 ไร่ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ เป็นต้น


นายเกรียงไกรกล่าวว่า อีกปัญหาที่ผู้ประกอบการขอให้ กทท.แก้ไข คือ ดอกหญ้จากบ่อน้ำในพื้นที่ (50 ไร่ ) ปลิวติดรถยนต์รอส่งออก ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด โดยได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำการขุดลอกหนองน้ำโดยรอบ นอกจากนี้จะเร่งศึกษาการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นเพื่อแก้ปัญหายั่งยืน โดยการทำระบบโซลาร์โพลทติ้ง (โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ) ซึ่งจะได้มีพลังงานทดแทนในโครงการท่าเรือสีเขียว ซึ่งจะศึกษาเสร็จในปีนี้

สำหรับ ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ สมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ (TICTA) สมาคมขนส่งแหลมฉบัง LCTA สมาคมโลจิสติกส์ EEC สมาคมขนส่งภาคตะวันออก ETA ชมรมขนส่งสินค้าท่าเรือแหลมฉบัง สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ (BSAA) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (MLI) กรมเจ้าท่า และ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง


กำลังโหลดความคิดเห็น