สนค.จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม "Organic Day" โชว์ความคืบหน้าระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยด้วยนวัตกรรม Blockchain หรือ tracethai.com เผยหลังนำร่องข้าวอินทรีย์ ล่าสุดได้ขยายสู่สินค้าผัก ผลไม้ เห็ด โกโก้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบอินทรีย์ สินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์, Organic Thailand, GI และจะเพิ่มการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ในปีนี้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 10 ก.ค. 2566 สนค.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “Organic Day : โครงการประยุกต์ใช้ Blockchain ยกระดับเศรษฐกิจการค้า ระยะที่ 4” เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และร่วมมือพัฒนาระบบต้นแบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain หรือ tracethai.com ที่ใช้ติดตามตรวจสอบ สร้างความเชื่อมั่น และปลอดภัย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ทั้งนี้ สนค.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย จึงเริ่มดำเนินโครงการประยุกต์ใช้ Blockchain ยกระดับเศรษฐกิจการค้าเมื่อประมาณปี 2563 โดยมีสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ และพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain หรือระบบ tracethai.com สำหรับติดตามหรือตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่การผลิต รวบรวม บรรจุ และจัดจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยนำร่องที่สินค้าข้าวอินทรีย์ซึ่งมีศักยภาพการส่งออกสูง
“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้ความสนใจและเข้าร่วมระบบ tracethai.com เพราะมั่นใจว่าเป็นเครื่องมือควบคุมการผลิตและส่งมอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะสามารถส่งผ่านข้อมูลใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างปลอดภัย สะดวก เป็นการยกระดับการค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชจนถึงผู้บริโภค ตอบโจทย์การค้ายุคใหม่ในโลกดิจิทัล” นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบัน สนค.พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง รองรับพืชอินทรีย์อื่นนอกเหนือจากข้าว เช่น ผัก ผลไม้ เห็ด โกโก้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบอินทรีย์ และรองรับมาตรฐานโดยหน่วยตรวจรับรองหรือ CB ตามมาตรฐานอินทรีย์สากล และมาตรฐาน Organic Thailand ตลอดจนสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ชาเชียงราย ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้สระบุรี และหอมแดงศรีสะเกษ และปีนี้ สนค. ขยายไปสู่การรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์กลุ่มใหญ่ภายในประเทศด้วย
ในปี 2566 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายโครงการไปยังเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาค โดยร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต แปรรูป จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ใน 3 จังหวัด และฝึกอบรมใช้งานระบบรวม 10 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร เป็นต้น
รศ.ดร.ดนุพันธ์ วิสุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบต้นแบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain มีความสำคัญมากภายใต้บริบทโลกยุคใหม่และทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางสำคัญที่ สนค. ได้ริเริ่มและให้โอกาสสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา tracethai.com จนเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมนำไปสู่การส่งเสริมศักยภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ สอดคล้องกับแนวทางสร้างเกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย รักและห่วงใยสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในระบบตรวจสอบย้อนกลับเกษตรอินทรีย์ ช่วยสร้างกลไกความน่าเชื่อถือ โปร่งใส ในการบันทึกข้อมูลสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารหรืออ้างมาตรฐานใบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนผู้ซื้อที่จ่ายราคาสูงขึ้นให้ได้รับสินค้าปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ในทุกจุด ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มโอกาสการค้าให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่กำหนดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น