ผู้ว่าฯ รฟท.กังวลยุบตำรวจรถไฟ ต.ค. 66 นี้หวั่นกระทบผู้โดยสาร เร่งหารือตำรวจสอบสวนกลางหาแนวทางแก้ปัญหา อาจต้องจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่ม เผยบนขบวนรถไฟ กังวลขอบเขตอำนาจ จับกุม สอบสวน ต่อไปไม่มีตำรวจต้องเพิ่มมาตรการปลอดภัย
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่ กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จะถูกยุบเลิกตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 นี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ รฟท.ที่เดิมมีกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ทั้งสถานีและบนขบวนรถไฟ ซึ่งแม้ว่ารฟท.จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการให้บริการผู้โดยสารอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดในกรณีเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รฟท.ได้หารือกับทางตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลความปลอดภัยต่อไปก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน แต่อาจจะมีประเด็นในเรื่องของเขตอำนาจในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจอาจจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง
ในส่วนของ รฟท.เองได้เตรียมแผนรองรับ เช่น แนวทางจัดจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพิ่ม หรืออาจจะทำเอ็มโอยูร่วมกับตำรวจให้จัดกำลังมาดูแล โดยรฟท.อาจจะจัดงบประมาณรองรับในส่วนนี้ ซึ่งต้องหารือกันว่าโครงสร้างตำรวจจะดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ให้ความสำคัญต่อกรณียุบตำรวจรถไฟ โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 รฟท.และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟ เพื่อดูแลยกระดับความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“การที่ไม่มีตำรวจรถไฟกระทบ รฟท.แน่นอน แต่ไม่ได้ทั้ง 100% เพราะมีเจ้าหน้าที่ รฟท.ดูแลอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่ต้องเข้าใจว่ากรณีมีคนร้ายหรือเกิดเหตุรุนแรง การมี รปภ.กับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจช่วยเราได้มาก ดังนั้น ก็จะประสานกับตำรวจในการขอให้จัดกำลังมาดูแลในพื้นที่จำเป็น เพราะปัญหาจะอยู่ที่บนขบวนรถไฟ ซึ่งเดิมทีมีตำรวจรถไฟประจำบนขบวนรถไฟไปตลอดทาง โดยจะมีการจัดกำลังรับช่วงต่อกันในแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อตำรวจรถไฟถูกยุบ กำลังตำรวจบนรถไฟก็จะหายไป
ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า จะเร่งหารือร่วมกับทางตำรวจเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดมีการนำเสนอ การจัดพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อให้ทางตำรวจเข้ามาตั้งออฟฟิศ ซึ่งขณะนี้มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดประสานขอใช้พื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะมีตำรวจอีกหลายหน่วยที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ เพราะในอนาคตสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ซึ่งจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก