กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่พิษณุโลก ตามหาสินค้าที่จะผลักดันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ พบมีศักยภาพเพียบ ทั้งสับปะรดบ้านแยง แป้งแห้วนาชุมชนหนองกุลา น้ำตาลวัดโบสถ์ ส้มซ่า และกระชายดำ เตรียมระดมความเห็น ลงพื้นที่ดูการผลิต ก่อนพิจารณาต่อไป
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26-27 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้นำทีมงานลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และทำงานร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก เพื่อช่วยกันคัดสรรสินค้าที่จะขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ของจังหวัด โดยมีการนำเสนอสินค้าที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะนำมาขึ้นทะเบียน GI ได้ เช่น สับปะรดบ้านแยง แป้งแห้วนาชุมชนหนองกุลา น้ำตาลวัดโบสถ์ ส้มซ่า และกระชายดำ เป็นต้น ซึ่งกรมฯ จะประชุมหารือระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าข้างต้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ และเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้า ณ แหล่งผลิต ก่อนที่จะพิจารณาผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ต่อไป
ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก มีสินค้าที่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียน GI แล้ว 2 รายการ คือ กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ ได้เดินทางไปตรวจสอบกระบวนการผลิตและติดตามสถานการณ์การค้าสินค้า GI กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก ของผู้ประกอบการ 2 ราย ได้แก่ บริษัท บานาน่าโซไซตี้ จำกัด และร้านกล้วยตากแม่โสม โดยร้านกล้วยตากแม่โสมเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2566 ด้วย
“นอกจากจะผลักดันให้สินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อให้สินค้าจำหน่ายได้มากขึ้น ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความเป็นพรีเมียมให้กับสินค้า รวมทั้งจะมีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้าที่ได้รับตรา GI เพื่อยืนยันถึงคุณภาพในการผลิตและเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตสินค้าที่แท้จริง อันเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่ง”น.ส.กนิษฐากล่าว
สำหรับกล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มีมูลค่าทางการตลาดรวมทั้ง 2 สินค้ากว่า 128,804,490 บาทต่อปี โดยกล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก มีชื่อเสียงมายาวนาน จนเป็นของฝากประจำจังหวัด ผลิตจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง พันธุ์นวลจันทร์ พันธุ์ปากช่อง 50 หรือพันธุ์พื้นเมือง มีเนื้อแห้งเนียนละเอียด เหนียวนุ่ม ไม่มีเม็ด รสชาติหวานเป็นธรรมชาติ ผลิตในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งสิ้น 18 ราย ปริมาณการผลิต 971 ตันต่อปี สร้างรายได้ 83,319,490 บาทต่อปี ส่วนสินค้า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก เป็นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ทรงผลรียาว เปลือกสีเหลืองนวล ไม่ช้ำง่าย ผลสุกเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น เนียน ไม่มีเสี้ยน เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ เมล็ดลีบบาง รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง และอำเภอวัดโบสถ์ มีจำนวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งสิ้น 157 ราย ปริมาณการผลิต 2,927 ตันต่อปี สร้างรายได้ 45,485,000 บาทต่อปี
ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยแล้ว 187 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีแผนที่จะผลักดันให้สินค้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงให้มีการขึ้นทะเบียน GI เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่เป็นแหล่งผลิต