xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งภาพหลากมุมมองกับ BEM Art Contest

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การวาดภาพในรูปแบบ Painting สามารถทำออกมาได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งสีไม้ สีอะคริลิก สีน้ำมัน และที่นิยมมากที่สุดอีกรูปแบบหนึ่งคือสีน้ำ เพราะสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของผู้วาดออกมาได้เป็นอย่างดี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ต่อยอดกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใน Metro Art อาร์ตสเปซใต้ดินแห่งแรกของไทยด้วยการประกวด BEM Art Content ครั้งที่ 1 ที่ได้ชวนน้องๆ นักเรียนมัธยมปลายหรือเทียบเท่าอายุไม่เกิน 18 ปี รวมถึงนักศึกษาและประชาชนทั่วไปส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งมีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดในรอบแรกจำนวนทั้งสิ้น 378 ผลงาน ถูกคัดเลือกเหลือเพียง 100 ผลงาน เพื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบตัดสิน


นางวัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “สถานีพหลโยธินเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินเส้นทางแรก คือจากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีบางซื่อ ได้ให้บริการครบรอบ 19 ปีในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ จึงได้เนรมิตพื้นที่แห่งนี้เป็น Metro Art ณ สถานีพหลโยธิน เพื่อเชื่อมโยงศิลปะหลากหลายแขนง เปิดพื้นที่ให้ประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษาเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานในแบบเฉพาะตัว จนเกิดเป็นการประกวด BEM Art Content ครั้งที่ 1 และได้เห็นว่าหลายคนมีศักยภาพ มีฝีมือด้านศิลปะที่ดีมาก เพราะจากภาพต้นแบบเพียงภาพเดียวแต่ทำให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายจากผู้เข้าประกวด”


นายพงศ์อมร ศิริวัฒน์ อายุ 17 ปี จากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ผู้ชนะเลิศประเภทนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เล่าว่า “เดินทางไกลมาจาก จ.นครศรีธรรมราชด้วยความมุ่งมั่น มีการเตรียมความพร้อมและหมั่นฝึกฝนฝีมือมาก่อนถึงวันแข่งขัน เมื่อเห็นภาพต้นแบบที่เป็นมุมภาพถ่ายตอนกลางวัน ทำให้เกิดการจินตนาการนึกถึงแสงยามเช้า ได้ใช้ความรู้สึกจดปลายพู่กันลงบนกระดาษด้วยสีโทนอบอุ่น แสดงให้เห็นถึงเวลาช่วงเช้าที่สดใส ทั้งยังนำเทคนิคการลงสีแบบโปร่งแสง นำความนุ่มนวลของน้ำมาใช้ จึงเกิดเป็นผลงานที่ให้ความรู้สึกสบายตา เชื่อว่าผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่ตั้งใจถ่ายทอดออกมา”


ส่วน นายอรรถบดี วิศิษฏ์วัฒนะ อาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป เล่าว่า “ที่ผ่านมายังไม่เคยประกวดที่ไหนมาก่อน เมื่อได้เห็นข่าวประกาศรับสมัครของ BEM จึงสนใจ เพราะอยากเป็นตัวอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กนักเรียน นักศึกษา ได้ออกเดินทางหาประสบการณ์นอกห้องเรียน ได้สัมผัสบรรยากาศของการแข่งขัน และยังได้เปิดมุมมองเทคนิคใหม่จากผู้เข้าประกวดท่านอื่น สำหรับภาพนี้ เมื่อเห็นโจทย์ที่กรรมการเลือกมาแล้ว ทำให้นึกถึงมลพิษทางอากาศ PM 2.5 จึงจินตนาการเลือกใช้สีโทนเย็น และเนื่องจากมีความซ้บซ้อนทางด้านสถาปัตยกรรมทำให้ต้องเก็บรายละเอียดทีละส่วน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ระยะหลัง ระยะกลาง และระยะหน้า พร้อมเพิ่มจุดเด่นให้กับวัดวาอารามด้วยสีโทนร้อน ส้ม-เหลือง ใช้เส้นนำสายตาของทางพิเศษและรถไฟฟ้าที่วิ่งสู่เมือง ทำให้ภาพดูมีมิติมากยิ่งขึ้น BEM Art Contest ครั้งนี้จุดประกายให้ผู้ที่รักงานศิลปะกล้าออกมาแสดงศักยภาพมากขึ้น และเดินต่อไปในเส้นทางศิลปะอย่างมั่นใจ”


ด้าน อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช ประธานเครือข่ายสีน้ำนานาชาติแห่งประเทศไทย ของ IWS (International Watercolor Society) หนึ่งในคณะกรรมการการประกวด เล่าถึงความยากของเทคนิคสีน้ำว่า “การถ่ายทอดผลงานผ่านมุมมองของผู้วาดด้วยสีน้ำ ต้องใช้จินตนาการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสีน้ำที่นับว่ามีความยากเฉพาะตัว ผู้วาดไม่สามารถควบคุมทิศทางของน้ำได้ การจดปลายพู่กันจะต้องอาศัยความแม่นยำ ใช้การไหลของน้ำให้เกิดความสวยงามอย่างลงตัว เป็นที่น่าประหลาดใจมากเพราะผมเห็นผลงานของผู้เข้าแข่งขันซึ่งมีเวลาจำกัด แต่กลับสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งยากต่อการตัดสินเป็นอย่างมาก แต่การแข่งขันย่อมต้องมีผู้ชนะ โดยคณะกรรมการได้ตัดสินจากหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดกันไว้ จนได้ผลงานประเภทละ 5 รางวัล”


สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลท่านอื่นๆ ในประเภทนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (อายุไม่เกิน 18 ปี) ได้แก่ นายธนวัฒน์ หัสรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1, น.ส.นันท์นภัส โตศักดิ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2, น.ส.วรัทยา ศรีน้อย รางวัลชมเชย และ น.ส.พัณณ์ชิตา สุวรรณรินทร์ รางวัลชมเชย

ประเภทนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้แก่ นายก้องฟ้า ผารัตน์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1, นายปัญญา จันทวงษ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2, นายศุภกร ผ่านวงษ์ รางวัลชมเชย และนายนภัสนันท์ สัจจาวัฒนา รางวัลชมเชย

สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมดีๆ จาก BEM สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook (เฟซบุ๊ก) : BEM Bangkok Expressway and Metro / Twitter (ทวิตเตอร์) : BEM Bangkok Expressway and Metro / Instagram (อินสตาแกรม) : mrt_bangkok และ Mobile Application (โมบายล์แอปพลิเคชัน) : Bangkok MRT
















กำลังโหลดความคิดเห็น