กนอ.นำทัพผู้พัฒนานิคมฯ 10 รายบุกโรดโชว์เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ดึงดูดนักลงทุนปักฐานการผลิตในไทย วางเป้าดึง 3,700 ล้านบาท ขาย/เช่าพื้นที่ 200 ไร่แย้ม 3 รายพร้อมลงทุนจริงแล้ว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาได้นำคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 ราย (20ืกว่านิคมฯ) ได้แก่ นิคมอุตฯ อมตะ, ดับบลิวเอชเอ, เอเชียสุวรรณภูมิ, แพรกษา โรจนะแหลมฉบัง, เอส อ่างทอง, เอเชีย คลีน ชลบุรี, เอ็กโก ระยอง, เกตเวย์ ซิตี้ และนิคมฯอุบลราชธานี เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนในหัวข้อ “Manufacturing Game Changers! It’s Time for Thailand” รวมถึงการออกบูทของนิคมอุตสาหกรรมไทยเพื่อดึงการลงทุนมาตั้งฐานผลิตในไทย โดยการโรดโชว์ครั้งนี้มีเป้าหมายดึงดูดลงทุน 3,700 ล้านบาท ขาย/เช่าพื้นที่ 200 ไร่
"เบื้องต้นมี 3 บริษัทที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยจริงซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่ง 28 มิถุนายนผมจะหารือรายละเอียดกับนักลงทุน 3 รายนี้ โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมาลงทุนในนิคมฯ อันดับหนึ่ง กนอ.เองพยายามชี้ให้เห็นถึงนิคมฯ ในไทยที่ปัจจุบันที่มี 68 แห่งทั่วประเทศที่พร้อมรองรับการลงทุน ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจดี" นายวีริศกล่าว
ทั้งนี้ กนอ.ได้ทำงานร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) ใกล้ชิด ซึ่งพบว่าแนวโน้มนักลงทุนญี่ปุ่นต้องการพลังงานสะอาดเพื่อรองรับกติกาโลกโดยเฉพาะมาตรการภาษีนำเข้าคาร์บอน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่ง กนอ.ได้ชี้แจงและยืนยันทางประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดย กนอ.มีแผนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ หรือโซลาร์โฟลตติ้ง จากอ่างเก็บน้ำของ กนอ. แต่ยังติดปัญหาเรื่องการเชื่อมระบบสายส่งโดยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน กนอ.ยังมีแผนพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากโซลาร์เซลล์ พลังงานลม ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากนอกนิคมฯ 600 เมกกะวัตต์ อยู่ระหว่างเตรียมนำร่างข้อเสนอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือสำนักงาน กกพ.
“กนอ.ได้ชี้แจงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ กนอ.เองให้ความสำคัญและพยายามผลัดดันโครงการต่างๆ ในอีอีซีให้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายที่ส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จในปลายปี 2567" ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าว
ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,951 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 3.1 ล้านล้านบาท จากมูลค่าลงทุนทั้งหมด 12 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่า 70% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี มีกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 2. อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 3. อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 4. อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม และ 5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์