อาเซียน-จีนนัดเจรจายกระดับความตกลง ACFTA ทั้งคณะกรรมการเจรจาคณะใหญ่ และคณะทำงานย่อย 7 คณะ เผยจะมีการรายงานความคืบหน้าด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า MSMEs กฎหมายและสถาบัน และมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ที่เจรจาไปก่อนหน้านี้ด้วย ย้ำไทยจะผลักดันการเจรจาให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอาเซียนและไทย ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาปี 67
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเข้าร่วมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย.2566 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะเร่งหารือประเด็นต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้ามากที่สุด เพื่อให้ความตกลง ACFTA มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น และจะเดินหน้าให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะสรุปผลให้ได้ภายในปี 2567
สำหรับการเจรจารอบนี้ จะมีการประชุมของคณะกรรมการเจรจาคณะใหญ่ และการเจรจาของคณะทำงานย่อย จำนวน 7 คณะ ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.การลงทุน 3.เศรษฐกิจสีเขียว 4.เศรษฐกิจดิจิทัล 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.การแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค และ 7.ความร่วมมือเศรษฐกิจและวิชาการ และคณะทำงานที่เจรจาไปก่อนหน้า จำนวน 4 คณะ จะรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการเจรจาคณะใหญ่ทราบ ได้แก่ 1.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 2.วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย 3.กฎหมายและสถาบัน และ 4.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง
“การปรับปรุงความตกลง ACFTA จะช่วยขยายการค้าระหว่างสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยไทยในฐานะประธานร่วมฝ่ายอาเซียน จะผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าและเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจของอาเซียนและไทยมากที่สุด และมุ่งหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2567 ตามเป้าที่กำหนดไว้”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ อาเซียนและจีนจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA-JC) ครั้งที่ 16 ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลง ACFTA การหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี หรืออุปสรรคทางการค้าระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนอื่น ๆ
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยในปี 2565 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีมูลค่า 715,156.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% โดยอาเซียนส่งออกไปจีน มูลค่า 288,920.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 426,235.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 105,404.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 1.53% ขณะที่ไทยส่งออกไปจีน มูลค่า 34,389.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน มูลค่า 71,014.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน