xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนไทยจ่อลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม รับแผน PDP 8 ทั้ง "LNG to Power-พลังงานลม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สิ้นสุดการรอคอยแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (PDP 8) ปี 2564-2573 ของเวียดนาม ที่ภาคเอกชนธุรกิจไฟฟ้าของไทยเฝ้ารอก็คลอดออกมาเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าขยับเพิ่มเป็น 150,489 เมกะวัตต์ในปี 2573 โดยแผน PDP 8 ฉบับใหม่นี้ให้ความสำคัญการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดรับกับการเข้าสู่ Net Zero ในปี 2593 ของเวียดนาม

ทั้งนี้ แผน PDP 8 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากประเภทเชื้อเพลิงถ่านหิน 30,127 เมกะวัตต์, LNG to Power 22,400 เมกะวัตต์, ก๊าซฯ ในประเทศ 14,930 เมกะวัตต์, พลังงานน้ำ (Hydro Power) 29,346 เมกะวัตต์, พลังงานลมบนบก 21,800 เมกะวัตต์, พลังงานลมนอกชายฝั่ง 6,000 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ 12,836 เมกะวัตต์, นำเข้าไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์, Hydroelectricity 2,400 เมกะวัตต์, แบตเตอรี่สำรอง 300 เมกะวัตต์, ไบโอแมสและขยะ 2,270 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจน 2,700 เมกะวัตต์ และพลังงานอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งเบื้องต้นเวียดนามวางเป้าหมายในปี 2593 เวียดนามจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอีกต่อไป และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯในประเทศและ LNG จะเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนด้วย ซึ่งทิศทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของเวียดนามในอนาคตเป็นความเสี่ยงที่ภาคเอกชนไทยต้องพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดที่จะออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อแผน PDP 8 ประกาศออกมาทำให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าของไทยดูคึกคัก ต่างเร่งศึกษาและเตรียมความพร้อมยื่นประมูลแข่งทันทีหากเวียดนามประกาศรับซื้อไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นพี่เบิ้มอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ตามมาด้วย บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM ) บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP)

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า แผนพัฒนาพลังงาน PDP 8 ของเวียดนามที่ประกาศมาได้กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างมาก สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของบริษัทที่สนใจเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้า Gas to Power

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุน บริษัทจะต้องศึกษาและรอความชัดเจนกฎเกณฑ์รายละเอียดเรื่องราคารับซื้อไฟฟ้า สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ก่อนตัดสินใจ เชื่อว่าภายในไตรมาส 3 นี้น่าจะมีความชัดเจนขึ้น


ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ LNG to Power ที่กำหนดกำลังการผลิตโครงการละประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ตามที่ระบุไว้ในแผน PDP 8 บริษัทคงต้องรอดูรายละเอียดของอัตราการรับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขการซื้อขายไฟฟ้าที่จะออกมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลโครงการอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน GULF ได้ร่วมทุนกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

นอกเหนือจากการลงทุนในเวียดนามแล้ว GULF ยังมีโครงการลงทุนในมือ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ทั้ง 3 โครงการ คือ หลวงพระบาง ปากลาย และปากแบง ส่วนในไทย ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอย่างโรงไฟฟ้าหินกอง ส่วนโครงการรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ที่บริษัทได้รับการคัดเลือกราว 1,700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการลงนามสัญญา PPA ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งบริษัทร่วมทุน Gulf Binance ได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแพลตฟอร์มจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าแผน PDP 8 ที่ระบุโครงการ LNG to Power มีกำลังการผลิตโครงการละ 1,500 เมกะวัตต์ อาจจะไม่คุ้มการลงทุน เนื่องจากเงินลงทุนโครงการดังกล่าวค่อนข้างสูง เมื่อต้องลงทุนท่าเทียบเรือ คลัง LNG และโรงไฟฟ้า แต่ด้วยขนาดการรับซื้อไฟฟ้าต่อโครงการเพียง 1,500 เมกะวัตต์ ผลตอบแทนการลงทุนต่ำ แต่คงต้องรอดูรายละเอียดเงื่อนไขที่จะประกาศออกมาก่อนรวมทั้งราคารับซื้อไฟฟ้าด้วย

ปัจจุบัน GULF มีการลงทุนโรงไฟฟ้าหลายโครงการในเวียดนาม ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวม 118.5 เมกะวัตต์ซึ่งจ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล Mekong Wind ขนาด 128 เมกะวัตต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จ และได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วบางส่วน ทำให้ส่วนที่เหลือมีความเสี่ยงถูกลดราคาซื้อขายไฟฟ้าจากนโยบายของรัฐลง


BGRIM พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม

ด้านบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เบื้องต้นพบว่ามีโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทที่บรรจุอยู่ในแผน PDP 8 ของเวียดนามแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการ LNG to Power โครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน บริษัทก็สนใจเข้าประมูลโครงการใหม่เพิ่มเติมหากเวียดนามมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี แผน PDP 8 เพิ่งประกาศใช้ ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนทั้งเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อและเงื่อนไขสัญญา ดังนั้นการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้ารอบใหม่ต้องได้ผลตอบแทนการลงทุนเหมาะสม และเป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนที่บริษัทตั้งไว้ด้วย

BGRIM คาดว่าเวียดนามจะดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามแผน PDP 8 ได้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากทุนข้ามชาติย้ายฐานจากจีนมาปักหลักลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด เวียดนามเองก็เริ่มมีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในบางพื้นที่ด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทไทยในการสยายปีกการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีอย่างเวียดนาม


GUNKUL สนใจโรงไฟฟ้าพลังงานลม

บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่แสดงความสนใจในการเข้าร่วมชิงเค้กก้อนโตตาม PDP 8 ของเวียดนาม นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GUNKUL กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพลังงานลมหลายโครงการในประเทศเวียดนาม หลังพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในเวียดนามสูงขึ้นมาก คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้

นอกจากนี้ การประกาศแผน PDP 8 เป็นโอกาสของบริษัทเพื่อขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพิ่มโดยเข้าร่วมประมูลซื้อขายไฟฟ้าทันทีที่มีประกาศรับซื้อไฟฟ้าออกมา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่แล้วในเวียดนาม

สำหรับแผนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในไทย บริษัทรอลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT รอบแรกราว 5 พันเมกะวัตต์ของภาครัฐ ที่บริษัทได้รับการคัดเลือกแล้วจำนวน 17 โครงการ รวม 832.7 เมกะวัตต์ และพร้อมจะร่วมประมูลการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT รอบ 2 หากไม่ติดปัญหาทางการเมืองจนต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าไป

ทั้งนี้ GUNKUL ตั้งงบลงทุนปี 2566-2571 ไว้ 40,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อขยายพอร์ตจากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตในแผนแล้วทั้งสิ้น 1,563 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับขยายธุรกิจกัญชง-กัญชา และธุรกิจ Innovation


GPSC ผนึกกลุ่ม ปตท.พร้อมลุยโครงการ Gas to Power

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ก็เคยแสดงความสนใจในการลงทุนโครงการ Gas to Power ที่เวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการลงทุนร่วมกับกลุ่มปตท. โดยมีบริษัทแม่อย่าง ปตท.ที่มีประสบการณ์การลงทุนสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ในไทยอยู่แล้ว ดังนั้น เวียดนามประกาศแผน PDP 8 ออกมา ทาง GPSC จะได้ตั้งทีมขึ้นมาเกาะติดการลงทุนอย่างใกล้ชิดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน

ส่วนโครงการ Gas to Power ที่เมียนมานั้นคงต้องเบรกการลงทุนไปก่อน หลังจากเมียนมามีปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดย GPSC หันมาขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในอินเดีย ที่บริษัทเข้าถือหุ้นใน Avaada Energy Private Limited (Avaada) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมในปีนี้ราว 250 เมกะวัตต์ รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตหมุนเวียนสัดส่วน 50% ของกำลังการผลิตรวมในปี 2573

ทั้งนี้ GPSC ได้มีการปรับเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 7,974 เมกะวัตต์ จากไตรมาส 1/2566 ที่ 6,397 เมกะวัตต์ภายหลังจาก Avaada ชนะประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มถึง 4 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตเพิ่มเติม 747 เมกะวัตต์

GPSC ตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2566-2570) ราว 40,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการที่อยู่ในแผนให้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้า SPP Replacement (Glow SPP2) ที่การก่อสร้างคืบหน้า 50% คาดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 และโครงการเอนเนอยี รีคอฟเวอรี่ ยูนิต (ERU) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ของไทยออยล์ ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 89% คาดจะผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2568 ส่วนโครงการแบตเตอรี่ ก็ดำเนินการก่อสร้างโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ในไทย กำลังการผลิตระยะแรก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 และมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงด้วย


WHAUP เล็งโซลาร์รูฟท็อป-โรงไฟฟ้าพลังงานลม

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) กล่าวว่า จากแผน PDP 8 ของเวียดนาม ได้ส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าเองและใช้เองเพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบ ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการรุกธุรกิจโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในนอกและนิคมฯ ดับบลิวเอชเอในรูปแบบขายตรง (Private PPA)

ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการเจรจาการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบก (Onshore) ที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ขนาดกำลังการผลิต 50-100 เมกะวัตต์ โดยบริษัทไม่สนใจ M&A โครงการพลังงานลมค้างท่อที่ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่มีหลายโครงการรวม 4,000-5,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากโครงการเหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะถูกบีบจากภาครัฐให้ขายไฟฟ้าในราคาถูก รวมทั้งไม่สนใจโครงการโรงไฟฟ้านอกชายฝั่ง (Offshore) เนื่องจากกังวลว่าเป็นโครงการการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออก

ทั้งนี้ การ M&A โรงไฟฟ้าในเวียดนามนั้น จะเป็นการเปิดทางให้บริษัทมีโอกาสเข้าลงทุนโครงการใหม่ (Greenfield) ในเวียดนาม เนื่องจากแผน PDP 8 ปี 2564-2573 ทางรัฐบาลมีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตประเทศเป็น 150,489 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 50,000-70,000 เมกะวัตต์ เป็นโอกาสที่ดีในการสยายปีกการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในเวียดนาม จากปัจจุบัน บริษัทมีการลงทุนธุรกิจน้ำในเวียดนามอยู่แล้ว 3 โครงการป้อนให้ลูกค้าในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอและร่วมกับพาร์ตเนอร์ให้บริการน้ำประปาในเมืองฮานอย

แผน PDP 8 แม้จะเป็นโอกาสการลงทุนให้กับเอกชนไทย แต่การลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามยังคงมีความเสี่ยง คงต้องรอความชัดเจนการรับซื้อไฟฟ้าและกฎระเบียบข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไขเพื่อคลายความกังวลให้นักลงทุนต่างชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น