ครม.เคาะแก้เงื่อนไข "เมืองการบินอู่ตะเภา" หลังผู้โดยสารต่ำเป้า ปรับแผนพัฒนาแบ่งสร้าง 6 เฟส เริ่มที่ 12 ล้านคน/ปี เลื่อนนับสัมปทานปีที่ 1 เป็นเมื่อมีผู้โดยสาร 5.6 ล้านคน/ปี เอกชนเพิ่มลงทุนจาก 4,500 ล้านบาทเป็น 40,000 ล้านบาทพร้อมปรับเกณฑ์จัดสรรรายได้แบ่งผลตอบแทนใหม่
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 มิถุนายน 2566 มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (กพอ.) สืบเนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในรูปแบบ PPP Net Cost และในช่วงปี 2564-2565 เอกชนคู่สัญญาขอใช้สิทธิผ่อนผันตามข้อ 13 ของสัญญาร่วมลงทุน จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงกรณีเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเพื่อพิจารณาเหตุผ่อนผันรวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและสามารถหาข้อสรุปร่วมกันใน 5 ประเด็น คือ
1. การร่วมกันผลักดันการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) เห็นควรผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการเดินทางให้สูงขึ้นได้โดยเร็วและอย่างยั่งยืน โดยเห็นควรให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) จากเดิมประมาณ 4,500 ล้านบาทเป็นประมาณ 40,000 ล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ กรรมสิทธิ์ในงานพัฒนาเมืองการบินฯ ทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ
ทั้งนี้ สกพอ.จัดให้มีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ในการประกอบกิจการ การทำงาน และการอุปโภคบริโภค และในด้านการบินและโลจิสติกส์ ให้มีผลใช้บังคับและสามารถเริ่มใช้ประโยชน์ในมาตรการสนับสนุนทั้งหมดดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการฯ และจะมีการทบทวนพัฒนามาตรการ สนับสนุนดังกล่าวทุกๆ 10 ปี
2. สกพอ.จะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด (Best Efforts) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในการสนับสนุนเอกชนคู่สัญญาแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น ในการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของเอกชน ในการดำเนินโครงการฯ ให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าตลาดของสถาบันทางการเงินเอกชนทั่วไป และใกล้เคียงกันกับโครงการของรัฐที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันจนกว่าผลกระทบจะสิ้นสุดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการฯ
3. การปรับหลักเกณฑ์การพัฒนางานหลักของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โดยคู่สัญญาตกลงปรับระยะการพัฒนางานหลักของสนามบินอู่ตะเภา เช่น อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดิน เป็นต้น จากเดิมกำหนดไว้ 4 ระยะ เปลี่ยนเป็น 6 ระยะ (ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ระยะที่ 1 จำนวน 12 ล้านคน/ปี ระยะที่ 2 จำนวน 15.9 ล้านคน/ปี ระยะที่ 3 จำนวน 22.4 ล้านคน/ปี ระยะที่ 4 จำนวน 30 ล้านคน/ปี ระยะที่ 5 จำนวน 45 ล้านคน/ปี และระยะที่ 6 จำนวน 60 ล้านคน/ปี) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารของแต่ละระยะสอดคล้องกับประมาณการผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยในระยะแรกจะพัฒนาให้งานหลักฯ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน/ปี และจะลงทุนในระยะถัดไป (ระยะที่ 2-6) เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึงร้อยละ 80 ของขีดความสามารถในการรองรับของระยะปัจจุบัน โดยโครงการฯ ยังกำหนดเป้าหมายให้สนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสารในปีสุดท้ายได้ 60 ล้านคน/ปีเท่าเดิม
ขณะที่เงื่อนไขการพัฒนาเดิม 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี ระยะที่ 2 รองรับที่ 30 ล้านคน/ปี ระยะที่ 3 รองรับที่ 45 ล้านคน/ปี ระยะที่ 4 รองรับที่ 60 ล้านคน/ปี
4. ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา โดยคู่สัญญาตกลงให้ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนในช่วงเวลาตามเงื่อนไข โดยจัดลำดับรายการที่เอกชนคู่สัญญาต้องชำระ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าเช่าที่ดินให้รัฐ การชำระคืนดอกเบี้ย และเงินต้นของเงินกู้และส่วนแบ่งรายได้รัฐ เพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเอกชนคู่สัญญาสามารถชำระรายได้ของรัฐได้อย่างเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับหลักความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
โดยการจัดสรรรายได้ใหม่ตามแนวทางแก้ปัญหาฯ ดังนี้ ลำดับที่ 1 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ / ลำดับที่ 2 ค่าเช่าที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง ของรัฐ / ลำดับที่ 3 ชำระ ดอกเบี้ย + เงินต้น / ลำดับที่ 4 เงินสดสำรองตามมาตรฐานการชำระคืนเงินกู้ / ลำดับที่ 5 ส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ (ร้อยละ 5 ของรายได้) และลำดับที่ 6 ผลตอบแทน ให้รัฐเพิ่มเติม ตามซองข้อเสนอ +รายได้รัฐที่ค้างชำระ
การบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ข้างต้นจะสิ้นสุดเมื่อ 1. จำนวนผู้โดยสารรายปีสะสมที่เกิดขึ้นจริง มีจำนวนเท่ากับการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารตามข้อเสนอทางด้านเทคนิคของเอกชนคู่สัญญา และ 2. เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกลำดับการชำระครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ข้างต้นแล้ว รวมทั้งสถานะทางการเงินของเอกชนคู่สัญญาไม่อยู่ในสถานะผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ (No Default) และไม่อยู่ในสถานะที่ผู้ให้กู้เงินเริ่มใช้สิทธิเร่งรัดชำระหนี้เงินกู้
5. การเลื่อนวันเริ่มนับระยะเวลาให้บริการและบำรุงรักษาโครงการฯ โดยหากมีการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ แต่ปริมาณผู้โดยสารมีไม่ถึง 5.6 ล้านคน/ปี ให้เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาปีที่ 1 ในปีที่มีปริมาณ ผู้โดยสารต่อปีจำนวน 5.6 ล้านคน โดยในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเริ่มนับปีที่ 1 นั้น ให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าตอบแทนรัฐ ดังนี้
ชำระค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐจำนวน 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 820 ล้านบาท/ปีในช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ และเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ
ชำระรายได้ของรัฐ 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 1,300 ล้านบาท ในปีที่ 1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ และชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. เป็นจำนวนเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือ จากการดำเนินโครงการฯ ภายหลังการชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว ทั้งนี้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ ของเอกชนคู่สัญญา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเยียวยาผลกระทบตามหลักการแก้ไขปัญหาข้างต้นว่า นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาในระยะที่ปริมาณผู้โดยสารยังได้รับผลกระทบ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้เอกชนคู่สัญญาสามารถดำเนินโครงการฯ ได้โดยที่รัฐยังได้รับชำระส่วนที่เป็นรายได้ของรัฐ ตามจำนวนเดิมพร้อมค่าเสียโอกาส ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าผลักดันโครงการฯ ให้เป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ในการเดินทางของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ใกล้เคียงในระยะยาว และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ