xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” โชว์ประกันรายได้ 4 ปี ไม่มีเงินรั่วไหล เกษตรกรได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ชี้ประกันรายได้ 4 ปี ไม่มีทุจริต ไม่มีเงินรั่วไหล เกษตรกรได้ประโยชน์เต็มๆ ช่วยดึงราคาสินค้าขึ้น ต่างจากโครงการจำนำสินค้าเกษตร ที่เกิดทุจริตมโหฬาร สร้างความเสียหายเกือบ 1 ล้านล้านบาท ทุกวันนี้ยังชดใช้ไม่จบ หวังรัฐบาลใหม่สานต่อโครงการที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ทั้งข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ที่รัฐบาลนี้ดำเนินการมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ และไม่มีการทุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ไม่มีการรั่วไหล

“โครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ผูกพันกับรัฐบาลต่อไป ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะทำนโยบายนี้ต่อหรือไม่ แต่จากการสำรวจ พบว่าช่วง 4 ปีที่ทำโครงการนี้เกษตรกรพึงพอใจ ที่สำคัญไม่มีการทุจริต โดยต่อไปหากไม่มีโครงการประกันรายได้ และสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงราคาดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร เกษตรกรยังขายผลผลิตได้ราคาสูง แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเมื่อไร มีปัญหาแน่ เพราะรายได้ของเกษตรกรจะลดลง และไม่มีการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทางเดียวจากการขายสินค้าราคาต่ำ”

นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลใหม่น่าจะมีมาตรการดูแลเกษตรกร ส่วนจะเป็นโครงการรับจำนำหรือไม่ ตนมองว่า ในภาพรวมการรับจำนำสินค้าเกษตร โดยให้เกษตรกรเอาสินค้ามาจำนำ และกระทรวงพาณิชย์ต้องเช่าโกดังเก็บรักษาไม่ให้เสื่อมสภาพ และเปิดประมูลขายแบบที่ต้องได้กำไร แต่ถ้าไม่ได้ตามนี้ และมีการทุจริต ถือเป็นปัญหามาก เหมือนอย่างรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมา ที่ประเทศเสียหายมากถึง 800,000-900,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังชดใช้ไม่หมด ตนยังต้องลงนามในหนังสือสั่งการให้ชดใช้ความเสียหายอยู่จนถึงขณะนี้

“ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาผมยังลงนามในหนังสือสั่งการให้ชดใช้ความเสียหายอยู่เลย ยังไม่จบสิ้น ที่พูดแบบไม่มีเจตนาวิจารณ์พรรคการเมือง แต่นักข่าวถามถึงนโยบายจำนำ ซึ่งต้องระมัดระวัง เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว เป็นภาระมากกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และข้าราชการทุกคนหายใจไม่ทั่วท้อง” นายจุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2563-66 รัฐบาลใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้ และจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 218,158 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 298,679 ล้านบาท และช่วยเหลือให้ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่รวม 8.13 ล้านครัวเรือน โดยแยกเป็นโครงการประกันรายได้ข้าว จ่ายส่วนต่าง 161,631 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 179,553 ล้านบาท, มันสำปะหลัง ใช้งบ 12,689 ล้านบาท น้อยกว่างบที่ตั้งไว้ 29,890 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้งบ 2,287 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 6,083 ล้านบาท, ปาล์มน้ำมัน ใช้งบ 7,221 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 28,773 ล้านบาท ส่วนยางพารา ขณะนี้โครงการปีสุดท้ายยังไม่สิ้นสุด แต่ล่าสุดถึงวันที่ 24 พ.ค. 2566 ใช้งบรวมแล้ว 34,328 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ถือว่าประสบความสำเร็จ และใช้งบประมาณต่ำกว่าที่ตั้งไว้มาก โดยไทม์ไลน์ช่วงเริ่มปีแรกมีการจ่ายส่วนต่างประกันให้สินค้าเกษตรครบทั้ง 5 ชนิด แต่ต่อมาในปีที่ 2-4 ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จ่ายเงินส่วนต่างลดลง เช่น ปาล์มน้ำมัน ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน จนไม่ต้องจ่ายส่วนต่างแม้แต่บาทเดียวติดกันถึง 3 ปี ขณะที่มันสำปะหลัง และข้าวโพด จ่ายส่วนต่างเพียง 2 ปีแรก หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคาเลย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน และปีล่าสุด ข้าวเปลือก ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว, มันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงกว่าประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/กก., ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก.


กำลังโหลดความคิดเห็น