กรมการค้าภายในรายงานสถานการณ์สินค้าประจำสัปดาห์ เผยหมูเนื้อแดงลดต่อเนื่อง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 142 บาท ลด 6% ช่วยประชาชนประหยัดค่าครองชีพ ส่วนไก่มีเพิ่มและลด ไข่ไก่ เพิ่มเล็กน้อย เหตุอากาศร้อน ไก่โตช้า ไก่ออกไข่น้อย แต่ราคายังอยู่ในโครงสร้างที่กำกับดูแล สินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัวและลดลง แต่ห้างจัดโปรพัดลม แอร์ ทีวีเพียบ ระบุเกาะติดต้นทุนใกล้ชิด พบหลายรายการลดลง ด้านค่าแรง ยังไม่กระทบ เหตุเป็นแค่นโยบาย ยังไม่ปรับขึ้น
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าสัปดาห์นี้ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยกลุ่มเนื้อสัตว์ หมูเนื้อแดงราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 112-190 บาท หรือเฉลี่ย 142 บาทต่อกก. ลดลง 6% เป็นการปรับลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 151 บาทต่อกก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ที่จะมีค่าครองชีพลดลง ส่วนไก่ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศปรับขึ้นเล็กน้อย โดยไก่น่องติดสะโพก ราคา 65-95 บาทต่อกก. เฉลี่ย 78 บาทต่อกก. เพิ่ม 5% น่องไก่ ราคา 58-95 บาทต่อกก. เฉลี่ย 81 บาทต่อกก. เพิ่ม 4% สะโพกไก่ 60-98 บาทต่อกก. เฉลี่ย 84 บาท เพิ่ม 5% อกไก่ 57-100 บาทต่อกก. เฉลี่ย 77 บาทต่อกก. ลด 2% ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศร้อน ทำให้ไก่โตช้า ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตมีเพียงพอต่อความต้องการ และราคาก็ยังอยู่ภายในโครงสร้างที่กรมฯ กำกับดูแล
สำหรับไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคาทั่วประเทศ 3.2-4.4 บาทต่อฟอง เฉลี่ย 3.91 บาทต่อฟอง เพิ่มขึ้น 3% เนื่องจากมาตรการปลดแม่ไก่ยืนกรงและการผลักดันการส่งออกก่อนหน้านี้ ทำให้ปริมาณไข่ไก่สะสมเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล และอากาศร้อน ทำให้ไก่ออกไข่น้อยลง ส่งผลให้ผลผลิตปรับลดลงบ้าง แต่ภาพรวมยังออกสู่ตลาดต่อเนื่อง เพียงพอต่อความต้องการ และราคายังอยู่ในโครงการของกรมฯ โดยคาดว่า แนวโน้มผลผลิตจะออกมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน และราคาจะอ่อนตัวลง
ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ภาพรวมทรงตัวและปรับลดลง เนื่องจากห้างได้จัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ราคาทรงตัว เช่น ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุง นมผง น้ำตาลทราย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ครีมอาบน้ำ แชมพู ส่วนที่ราคาลดลง เช่น ปลากระป๋อง สบู่ก้อน น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เป็นต้น รวมทั้งห้างยังมีการจัดโปรโมชันเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นพิเศษ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย และลดภาระให้ผู้บริโภคในช่วงหน้าร้อน
ขณะที่สินค้าผัก มีเพิ่มขึ้นและลดลง โดยที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ต้นหอม ผักชี และพริกขี้หนูจินดา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เพราะอากาศร้อน แล้ง สลับฝนตก ส่งผลต่อการเติบโตของผัก ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย แต่ถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน ราคาปรับลดลง เพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าราคามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ผักเติบโตได้ดี และสินค้าประมง เช่น ปลานิล ปลาดุก เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และปลาทับทิม กุ้งขาว ปรับลดลง
ร.ต.จักรากล่าวว่า ภาพรวมราคาสินค้า มีทั้งขึ้นและลดลง เพราะแต่ละรายการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งกรมฯ จะติดตามสถานการณ์ต้นทุนอย่างใกล้ชิด ทั้งวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน ค่าไฟ เงินบาท เพราะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยขณะนี้ วัตถุดิบหลายรายการมีแนวโน้มลดลง ราคาน้ำมันดีเซล ก็ลดลง เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย มีผลทำให้ต้นทุนนำเข้าลดลง
ส่วนค่าแรง ยังบอกไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะยังเป็นเพียงนโยบาย ยังไม่มีการปรับขึ้น แต่หากมีการปรับขึ้น ก็กระทบต้นทุนสินค้าแตกต่างกัน บางตัวมาก บางตัวน้อย อย่างสินค้าที่ใช้เครื่องจักร ก็กระทบไม่มาก สินค้าที่ใช้แรงงานมาก ก็กระทบมากหน่อย ซึ่งต้องติดตามต่อไป