xs
xsm
sm
md
lg

OKMD จับมือสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ยกระดับศักยภาพบุคลากร ปั้นธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยหลักการเรียนรู้ของสมอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้ และให้บริการองค์ความรู้ เพื่อยกระดับความสามารถของแรงงานและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ ด้วยแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ประเดิม “โครงการยกระดับสถานประกอบการสู่การผลิตที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสอนงานตามหลักการเรียนรู้ของสมอง” (ESG On-boarding with Brain-based Learning) มุ่งติดอาวุธแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งในด้านผลประกอบการ การดูแลสังคม และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวถึงความสำคัญและเป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “เพราะในโลกปัจจุบันที่่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแข่งขันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถของแรงงานไทยและเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ”

“OKMD และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจึงบูรณาการจุดเด่น ความถนัด และความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งได้แก่ ความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management หรือ KM) และการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain - based Learning หรือ BBL ของ OKMD และการเพิ่มผลิตภาพ โดยการให้ความรู้และพัฒนาด้านการผลิตและการบริหารจัดการของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มาพัฒนาต่อยอดการศึกษาวิจัยและขยายผลแนวทางการนำองค์ความรู้ด้าน BBL ในการพัฒนาวิธีปฏิบัติงานและการสอนงานในโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ จำนวน 87 แห่ง ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในระหว่างปี พ.ศ. 2555-2562 ซึ่งพบว่าพนักงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ลดความผิดพลาด และมีทักษะในการทำงานที่หลากหลาย สามารถเข้าใจภาระงาน และมีเทคนิคการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สอดรับกับสถานการณ์ในหลายโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจ้างพนักงานจำนวนน้อยลง แต่สามารถเพิ่มผลผลิต ลดของเสียและความผิดพลาด รวมถึงลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายลง”

“ในปีนี้เราจึงพัฒนาเป็นหลักสูตรบริการความรู้และพัฒนาทักษะกระบวนการที่จะเสริมสร้างผู้ประกอบการไทย ให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ภายใต้หลักสูตรชื่อ การยกระดับสถานประกอบการสู่การผลิตที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสอนงานตามหลักการเรียนรู้ของสมอง หรือ ESG On-boarding with Brain-based Learning โดยการนำกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานใน 3 มิติสำคัญ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติสังคม (Social) และมิติธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล (Governance) ผนวกเข้ากับการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการผลิต การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยเครื่องมือผลิตภาพ ด้านการจัดการทรัพยากร และการถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติงานตามหลัก BBL”

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า “ในการร่วมมือครั้งนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ การให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการเพิ่มผลิตภาพของกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน (ESG) โดยผู้ประกอบการหรือบุคลากรจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด ESG ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรที่มีวิธีปฏิบัติที่ดีในเรื่องดังกล่าว และเรียนรู้การใช้เครื่องมือผลิตภาพสำหรับการจัดการทรัพยากร (Resource Productivity Techniques) ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง การออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม และกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งหมดนี้จะสอดคล้องตามหลักการเรียนรู้ของสมอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ สามารถจดจำและนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยตนเอง โดยช่วงเริ่มต้นนี้จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 5 องค์กร ใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 6 เดือน ก่อนที่จะขยายผลอย่างเต็มรูปแบบในปีต่อๆ ไป”

“ด้วยกิจกรรมและรูปแบบในการเรียนรู้ทั้งหมดได้ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันตามหลักการเรียนรู้ของสมอง (Brain-based Learning) ดังนั้น สิ่งที่องค์กรจะได้รับจึงไม่ใช่แค่การปรับปรุงกระบวนการผลิตขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้พร้อมสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน” นายสุวรรณชัยกล่าวทิ้งท้าย

ในปี 2566 จะดำเนินโครงการนำร่อง เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 5 องค์กร โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ESG การปรับปรุงตามแนวทาง Resource Productivity Management และการถ่ายทอดกระบวนการทำงานรูปแบบใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น