รฟท.จับมือ “สหวิริยาสตีลฯ” ทดลองขนส่งเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน จาก จ.ประจวบฯ-จ.สุพรรณบุรี 356 กม. พร้อมเร่งจัดหารถสินค้า 946 คัน วงเงิน 2.4 พันล้านบาท รองรับตลาดขนส่งทางราง หารายได้เพิ่ม
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ณ สถานีนาผักขวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ร่วมเป็นประธาน และตัดริบบิ้นในพิธีเปิดเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลองขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) ของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ในเส้นทางระหว่างสถานีนาผักขวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังที่หยุดรถศรีสำราญ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะพ่วงรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (บทต.) พิกัดบรรทุก 46 ตัน จำนวน 3 คัน
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ รฟท. เปิดเผยว่า การเปิดเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลองขนส่งดังกล่าวเป็นความร่วมมือของการรถไฟฯ และ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ที่มุ่งเน้นสนับสนุนส่งเสริมการขนส่งสินค้าภายในประเทศ และการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่การรถไฟฯ รวมทั้งช่วยยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศ
สำหรับการเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลอง ขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี เส้นทางเริ่มจากสถานีนาผักขวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังที่หยุดรถศรีสำราญ จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทาง 356 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาการเดินรถเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมง
โดยสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ขนส่งมีน้ำหนักแต่ละม้วนอยู่ระหว่าง 6-23 ตัน/ม้วน เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2,050 มิลลิเมตร โดยการทดลองขนส่งบนรถ บทต. มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ขนส่ง HRC ม้วนใหญ่ จำนวน 1 ม้วน 2. ขนส่ง HRC ม้วนใหญ่ จำนวน 2 ม้วน และ 3. ขนส่ง HRC ม้วนใหญ่ จำนวน 1 ม้วน และม้วนเล็ก จำนวน 2 ม้วน ซึ่งแต่ละรูปแบบน้ำหนักบรรทุกรวมไม่เกิน 46 ตัน
ซึ่งหลังจากการทดลองขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่เริ่มขบวนรถทดลองในวันนี้ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรีจะดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการทดสอบ จัดทำแผนการขนส่ง และรวบรวมสรุปผลการดำเนินงานในช่วงปีถัดไป โดยเบื้องต้นบริษัทฯ มีแผนเริ่มขนส่งในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
การขนส่งสินค้าทางราง ถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่า สามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว โดยที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้สนับสนุนกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟในหลายเส้นทาง และขณะนี้ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น สินค้าเกลือ ทุเรียน ยางพารา และไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 946 คัน วงเงินประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด และเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรางได้มากขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ และการก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) ที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ตลอดจนทางคู่สายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง การประหยัดพลังงาน และลดปัญหามลพิษทางอากาศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทเอกชนต่างๆ มีความเชื่อมั่นต่อการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการนำระบบขนส่งทางรางมาสนับสนุนขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์โดยตรง สามารถนำสินค้าในท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนขนส่งกับทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงแหล่งผลิตไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกด้านปริมาณการขนส่ง ลดมลพิษ ลดระยะเวลาการเดินทาง ช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งให้ภาคประชาชน และเอกชน เพิ่มขีดความสามารถระบบขนส่งโลจิสติสก์ของประเทศ ให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศ และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป