ปัญหาเด็ก ๆ ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ เป็นหนึ่งในปัญหาของครอบครัวไทย ที่พ่อแม่มักจะประสบอยู่เนือง ๆ หรือปัญหาโรคอ้วน จากการบริโภค ที่เกิดขึ้นกับประชากรของไทย ทำให้ผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมด้านอาหาร ต่างมุ่งที่จะพัฒนาอาหารให้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่ม และเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม การพัฒนานวัตกรรม
วันนี้มีข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจและตามค้นหาสินค้าที่มีนวัตกรรมในกลุ่มอาหาร ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทั้ง 2 ด้านได้ ทั้งแก้ปัญหาไม่ชอบกินผัก ผลไม้ และลดความอ้วนได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งก็คือ “กลมกลืน” นวัตกรรมขนมแห่งอนาคต ที่ผลิตจากข้าวพื้นเมืองชื่อ “เล็บนก” แล้วนำมาแปรรูปเป็นเซลลูโลสจากข้าวหนึ่งเดียวในโลก
เภสัชกรสมบัติ รุ่งศิลป์ กรรมการ บริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอาหารดังกล่าว เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมา ได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมด้านอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าปัญหาเด็กไม่กินผัก ผลไม้ ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับพ่อแม่ หรือปัญหามีคนอ้วนมาก ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นคนอ้วน มักจะมีพฤติกรรมที่ชอบกินจุกกินจิก ทำให้สะสมพลังงานเกินความจำเป็น จึงเป็นที่มาของการออกแบบอาหารให้มีพลังงานต่ำ เคี้ยวได้ และทุกครั้งที่เคี้ยวก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
“สิ่งที่พัฒนาขึ้นมา ก็คือ นำข้าวเล็บนก ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองในจังหวัดพัทลุงมาแปรรูปเป็นเซลลูโลส ทำให้เกิดไฟเบอร์จากธรรมชาติ เส้นใยมีลักษณะพิเศษ มีโมเลกุลไม่หนาแน่น นุ่ม เคี้ยวง่าย แล้วเอาน้ำผลไม้มาผสมใส่ ก็ช่วยกักเก็บน้ำผัก น้ำผลไม้ และทุกครั้งที่เคี้ยว ก็จะได้ไฟเบอร์ธรรมชาติ น้ำตาลต่ำ พลังงานน้อย เคี้ยวได้ทุกครั้งในยามที่ต้องการ ช่วยให้อิ่มท้อง และได้ประโยชน์จากสารอาหาร”
สำหรับการพัฒนาก่อนที่จะมาเป็นขนมแห่งอนาคต เริ่มจากนำข้าวเล็บนก มาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยจุลินทรีย์ที่ถูกคัดสรร ขยันขันแข็ง ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ภายใน 7 วัน เปลี่ยนข้าวให้เป็นเส้นใยธรรมชาติ แผ่นกลม หนึบนุ่ม เคี้ยวง่าย พอดีคำ จากนั้นนำไปแช่อิ่มในน้ำผัก น้ำผลไม้ โดยเซลลูโลสที่ผลิตจากจุลินทรีย์ มีเส้นใยขนาดเล็กระดับนาโน อุ้มน้ำสูงกว่าเซลลูโลสที่ได้จากพืช 6-70 เท่า บริโภควันละ 4-8 ชิ้น ช่วยให้อิ่ม ลดอาการอยากทาน ขับถ่ายสะดวก เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่ชอบทานผัก ผู้มีปัญหาท้องผูกและต้องการควบคุมน้ำหนัก
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของไทยนาโนเซลลูโลส ไม่ได้มีแค่เจลลี่ไฟเบอร์จากข้าว แต่ยังมีผลิตภัณฑ์จากเซลลูโลสชีวภาพรวมทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ด้านการแพทย์ เช่น วัสดุปิดบาดแผล และแผ่นคลุมผิว กลุ่มที่ 2 ด้านเสริมความงาม เช่น แผ่นมาส์กหน้า แผ่นปิดใต้ขอบตา และแผ่นประทินผิว กลุ่มที่ 3 ด้านอาหาร เช่น ไรซ์เจลลี่ทรงกลม และชนิดเส้น กลุุ่มที่ 4 หนังสำหรับงานตกแต่งและแฟชัน เช่น สำหรับผลิตกระเป๋า ตกแต่งภายใน และชุดเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มที่ 5 เซลลูโลสบริสุทธิ์ สำหรับงานในห้องปฎิบัติการ เช่น รูปแบบ ผง แผ่นเปียก และแห้ง โดยกำหนดขนาดตามความต้องการของห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ “กลมกลืน” สินค้าที่มีนวัตกรรมจากจังหวัดพัทลุง สามารถพบกันได้ในงาน Southern Thailand Local BCG Plus Fair ระหว่างวันที่ 10-14 พ.ค.2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 หน้าร้าน H&M ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ สงขลา