xs
xsm
sm
md
lg

“กรนิจ โนนจุ้ย” มิสเตอร์มะม่วง เปิด “แผนงาน-วิธีการ” ดันราคาพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2566 เป็นปีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า เมื่อผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. 2566 เป็นต้นมาจะมีปัญหาราคาตกต่ำ และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร เพราะปีนี้คาดการณ์ผลผลิตมะม่วงในภาพรวมจะมีมากถึง 1.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% ซึ่งดูตัวเลขแล้ว ก็น่าเป็นห่วง แต่ปรากฏว่าหลังจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด สิ่งที่เคยกังวล ปัญหาที่เคยกังวล โดยเฉพาะเรื่องราคาตกต่ำ ก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคามะม่วงของปี 2565 ที่ผ่านมา

เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว เป็นผลมาจากการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 ออกมาล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 22 มาตรการ ที่จะใช้ดูแลตั้งแต่ด้านการผลิต ด้านการตลาดในประเทศ ด้านการตลาดต่างประเทศ และด้านกฎหมาย พร้อมมอบภารกิจให้กรมการค้าภายในดูแลและบริหารจัดการผลไม้ในประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดูแลและบริหารจัดการผลไม้ต่างประเทศ

โดยมาตรการบริหารจัดการผลไม้ในประเทศ กรมการค้าภายในได้เตรียมมาตรการระบายผลผลิตผลไม้ไว้รวมๆ 7 แสนตัน เช่น อมก๋อย โมเดล ประสานผู้ประกอบการไปซื้อผลไม้เป้า 1 แสนตัน, กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต โดยช่วยเหลือค่ากระจายกิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท เป้า 9 หมื่นตัน, ขายผ่านรถเร่ รถโมบายล์ โดยเข้าไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในช่วงผลไม้ออก เป้า 3 หมื่นตัน, เปิดจุดจำหน่ายที่ห้าง ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน โดยเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลไม้ไปขาย เป้า 1 แสนตัน, รณรงค์บริโภคผลไม้ Fruit Festival 2023 เป้า 4.2 หมื่นตัน, สนับสนุนกล่องให้เกษตรกร เป้า 3 แสนกล่อง, ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้ เป้า 2.2 แสนตัน และเปิดพรีออเดอร์ผลไม้ ให้โรงงาน 3 หมื่นแห่งใน 60 นิคมอุตสาหกรรม สั่งซื้อผลไม้ล่วงหน้า เป้า 1.5 หมื่นตัน เป็นต้น

“มะม่วง” ตัวแรกที่ออกสู่ตลาด

ในปี 2566 ประเมินว่าผลผลิตผลไม้ในภาพรวมทุกชนิดจะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% โดยในนี้ ทุเรียน เพิ่ม 18% มังคุด เพิ่ม 30% ลำไย เพิ่ม 1% เงาะ เพิ่ม 7% ลิ้นจี่ เพิ่ม 10% มะม่วง เพิ่ม 4% สับปะรด เพิ่ม 5% เป็นต้น

หลังจากที่ได้มีการคาดการณ์แนวโน้มผลผลิตของผลไม้ต่างๆ แล้ว พบว่าตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. 2566 หรือหลังสงกรานต์เป็นต้นมา ผลผลิตผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลล่วงหน้า โดยเฉพาะมะม่วง ซึ่งถือเป็นผลไม้ตัวแรกๆ ที่ผลผลิตจะออกเร็วและมาก

โดยในการดูแลมะม่วง ได้กำหนดมาตรการที่จะนำมาใช้ คือ โครงการ “อมก๋อย โมเดล” ที่จะใช้วิธีการประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ควบคู่กับโครงการ “Fruit Festival 2023” ที่จะเปิดจุดจำหน่ายมะม่วง ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลผลิต


“กรนิจ โนนจุ้ย” สวมบทมิสเตอร์มะม่วง

ในการขับเคลื่อนโครงการช่วยเหลือมะม่วง นายวัฒนศักย์ได้มอบหมายให้นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล และติดตามผลการนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตมะม่วงจากเกษตรกร ในโครงการอมก๋อย โมเดล และนำกระจายผ่านช่องทางต่างๆ ในโครงการ Fruit Festival 2023 ที่มีทั้งการเปิดจุดจำหน่ายในห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่น ผ่านรถโมบายล์พาณิชย์ และจำหน่ายในจุดที่โครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชนไปเปิดบูทจำหน่ายสินค้า

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดช่วงแรกๆ นายวัฒนศักย์ได้ประเดิมคิกออฟโครงการอมก๋อย โมเดล โดยเริ่มที่ จ.พิษณุโลก และพิจิตร โดยได้นำผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และห้างค้าส่งค้าปลีก จำนวน 12 ราย ได้แก่ ห้างแม็คโคร บิ๊กซี โลตัส เดอะมอลล์ และท็อปส์, บริษัท เรด เลม่อน จำกัด บริษัท เอ็ม ที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด บริษัท นานา ฟรุ๊ต จำกัด บริษัท สตูดิโอ จีบาร์ จำกัด บริษัท แอลเคมมิสท์ จำกัด บริษัท มิสเตอร์ฟรุ๊ตตี้ จำกัด และบริษัท วันพิษณุโลก จำกัด ช่วยรับซื้อมะม่วงปริมาณกว่า 16,000 ตัน จากเกษตรกร จำนวน 10 กลุ่ม 7 อำเภอ 2 จังหวัด คือ จ.พิจิตร กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง อ.สากเหล็ก (ต.คลองทราย ต.วังทับไทร) อ.เมือง (ต.บ้านบุ่ง) อ.ดงเจริญ (ตำบลสำนักขุนเณร) อ.วังทรายพูน (ต.หนองปลาไหล ต.วังทรายพูน) และ จ.พิษณุโลก กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง อ.เมือง (ต.บ้านคลองวังเรือ) อ.วังทอง (ต.ชัยนาม) อ.เนินมะปราง (ต.บ้านวังน้ำบ่อ ต.บ้านลำภาศ)

จากนั้น เมื่อเริ่มโครงการแล้วก็ปล่อยให้นายกรนิจเข้ามาสานงานต่อ ทั้งการติดตามผลการรับซื้อ การประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ และการนำผู้ประกอบการไปรับซื้อในจังหวัดอื่นๆ ที่ผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาด หรือมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านราคา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตรงไหน จุดไหน มะม่วงมีปัญหา หรือผลผลิตล้นตลาด ก็จะมีนายกรนิจเดินทางเข้าไปบริหารจัดการในทันที


เปิดวิธีการและแผนงานที่ใช้

นายกรนิจเล่าให้ฟังว่า ในการเข้าไปช่วยเหลือมะม่วง กรมฯ ได้ใช้โครงการอมก๋อย โมเดล เป็นมาตรการหลัก ด้วยการประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และห้างท้องถิ่น เข้าไปรับซื้อผลผลิตมะม่วงจากเกษตรกร โดยเบื้องต้นได้พุ่งเป้าไปพื้นที่ที่มีผลผลิตมากอย่าง จ.พิษณุโลก และพิจิตร ซึ่ง 2 จังหวัดนี้จะเน้นเป็นพิเศษ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ถ้าพื้นที่ไหนมีปัญหา มีผลผลิตออกมาหรือกระจุกตัว ก็ได้ประสานให้ผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อในทันที

จากนั้นจะเป็นเรื่องของการระบายผลผลิต ได้ใช้โครงการ Fruit Festival 2023 เป็นช่องทางนำผลผลิตมะม่วงจากชาวสวนไปจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยใช้กลไกความร่วมมือกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่น เพื่อเปิดจุดจำหน่ายมะม่วง ซึ่งจริงๆ เตรียมไว้เยอะกว่านี้ เช่น การประสานกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อเปิดจุดจำหน่าย การประสานกับปั๊มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรนำมะม่วงไปขาย หรือเปิดเป็นจุดจำหน่าย หรือใช้เป็นของแจกเวลาเติมน้ำมัน หรือให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเปิดพรีออเดอร์ แต่ยังไม่ทันได้ใช้ เพราะมาตรการอมก๋อย โมเดล กับ Fruit Festival 2023 ก็เอาอยู่

คิกออฟเปิด Fruit Festival 2023

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 นายวัฒนศักย์ได้ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน และกูร์เมต์ มาร์เก็ต เปิดงาน “พาณิชย์ Fruit Festival 2023” ซึ่งเป็น 1 ใน 22 มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 เป็นครั้งแรก ณ พาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อจำหน่ายผลไม้สดและแปรรูปมากกว่า 100 ชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรดภูแล ส้มสายน้ำผึ้ง มะม่วง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ไอศกรีมทุเรียนและผลไม้ บ้าบิ่นทุเรียน พิซซาหน้าผลไม้ เป็นต้น โดยได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กันในห้างอื่นๆ ด้วย เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์

นอกจากนี้ ยังได้ผนึกกำลังร่วมกับชมรมทายาทห้างค้าปลีก-ค้าส่งแห่งประเทศไทย (ห้างท้องถิ่น) ซึ่งมีสาขาร่วมกันกว่า 200 สาขาทั่วประเทศ แยกเป็นภาคอีสาน 69 สาขา ภาคใต้ 52 สาขา ภาคกลาง 41 สาขา ภาคเหนือ 38 สาขา ทำการ Kick off กิจกรรม Fruit Festival 2023 โดยนำมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากแหล่งผลผลิตในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก กว่า 1,000 ตัน หรือกว่า 1 ล้านกิโลกรัม มาเปิดจุดจำหน่ายในราคา 30 บาท/กิโลกรัม (กก.)

ผลการดำเนินการ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก มีการเดินทางมาซื้อมะม่วงตลอดทั้งวัน และบางจุดมะม่วงจำหน่ายหมดเกลี้ยงภายในพริบตา และผลผลิตมะม่วงที่นำไปจำหน่ายกว่า 1 ล้าน กก.ก็จำหน่ายหมดในเวลาที่รวดเร็ว


ส่งม้าเร็วเคลียร์ปัญหา-ดึงความเชื่อมั่น

นายกรนิจกล่าวว่า ช่วงที่ราคามะม่วงอยู่ในเกณฑ์ดี ก็มีปัญหาให้ต้องตามแก้ อย่างในพื้นที่ จ.พิจิตร ผลผลิตมะม่วงเจอปัญหาพายุเข้าถล่ม ก็ประสานผู้ประกอบการเข้าไปช่วยรับซื้อผลผลิตในทันที หรือกรณีมีข่าวมะม่วงใน จ.พิษณุโลก ราคาตกเหลือ กก.ละ 1-2 บาท ก็ประสานพาณิชย์จังหวัดเข้าไปตรวจสอบ ไม่พบว่ามีการจำหน่ายในราคาดังกล่าว หรือกรณีเกษตรกรร้องเรียนว่าไม่มีตลาดรองรับผลผลิต ก็ประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อทันที

“มะม่วงที่เป็นข่าว เป็นมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ซึ่งผลผลิตสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว ไม่มีผลผลิตที่รับประทานได้แล้ว เป็นมะม่วงหล่นที่รอจำหน่ายเพื่อนำไปกวนเป็นมะม่วงกวนเท่านั้น ซึ่งปกติจะมีผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อทำมะม่วงกวน ไม่ใช่มะม่วงสด หรือมะม่วงน้ำดอกไม้แต่อย่างใด โดยกรมฯ ได้ประสานผู้ประกอบการเข้าไปช่วยรับซื้อสินค้าจากกลุ่มนี้ในราคา 18 บาท ซึ่งกลุ่มก็ไม่มีผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการมีความพร้อมที่จะรับซื้อในราคา 18 บาท หากกลุ่มสามารถรวบรวมผลผลิตได้” นายกรนิจกล่าว

ชาวสวนเป๋าตุงราคาพุ่งแรง

ผลจากการดำเนินมาตรการบริหารจัดการมะม่วงอย่างเข้มข้นและทันการณ์ ส่งผลให้ราคามะม่วงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคามะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ณ วันที่ 3 พ.ค. 2566 อยู่ที่ กก.ละ 35 บาท เกรดคละ กก.ละ 18-20 บาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงปลายฤดูของปีก่อนที่ราคาอยู่ที่ กก.ละ 13-15 บาท ส่วนมะม่วงฟ้าลั่น ราคาปีนี้อยู่ที่ 9-10 บาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ราคา 5-6 บาท เพิ่มขึ้น 64%

“ต้องขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่ช่วยดูแลรักษาคุณภาพผลผลิตได้ดีตั้งแต่ต้นจนถึงปลายฤดูกาล ทำให้มีผลผลิตมะม่วงเกรดคุณภาพ และสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง โดยในช่วงต้นฤดูเกษตรกรสามารถขายได้ กก.ละ 40 บาท จนเริ่มต้นฤดู กก.ละ 30 บาท และปัจจุบันปลายฤดู ยังคงรักษาระดับราคาได้อยู่ที่ กก.ละ 20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ดีกว่าปีก่อนมาก” นายกรนิจกล่าว

พูดได้ว่าปีนี้เป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอีกปีหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถขายผลผลิตได้ราคาดีตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล จนใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาล ก็ยังขายได้ราคาดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการบริหารจัดการของกรมการค้าภายในที่เข้าไปดูแลอย่างทันเหตุทันการณ์ และอีกส่วนหนึ่ง เป็นเพราะเกษตรกรได้ดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ จนทำให้ตลาดต้องการ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ก็ขอให้รักษามาตรฐานนี้ไว้เพื่อตัวเกษตรกรเอง








กำลังโหลดความคิดเห็น