xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เผยใช้ GSP ส่งออก 2 เดือน 496.71 ล้านเหรียญ ชี้ “เลนส์แว่นตา” ขายสหรัฐฯ ดาวรุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยสถิติการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกไป 4 ประเทศที่ไทยยังคงได้รับสิทธิ์ ช่วง 2 เดือนปี 66 มีมูลค่า 496.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 13.30% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 52.36% เผยสหรัฐฯ นำโด่งมูลค่าใช้สิทธิ์สูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 91.61% ของการส่งออกที่ใช้สิทธิ์ทั้งหมด ระบุเครื่องปรับอากาศครองแชมป์ใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ จับตาเลนส์แว่นตา มีแนวโน้มเป็นดาวรุ่ง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ในช่วง 2 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่ารวม 496.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.30% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 52.36% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ GSP ที่มีมูลค่า 948.62 ล้านเหรียยสหรัฐ โดยตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สหรัฐฯ มีมูลค่า 457.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.63% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 55.36% แต่หากดูจากภาพรวมการใช้สิทธิ์ GSP ตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงถึง 91.61% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ์ GSP ที่เหลือเป็นสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 35.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 15.70% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 31.35% นอร์เวย์ มูลค่า 2.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 47.87% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 54.90% และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มูลค่า 0.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 68.54% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 18.09%

สำหรับการใช้สิทธิ์ GSP ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ สินค้าครองแชมป์อันดับ 1 ยังคงเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ แต่สินค้าที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองไม่แพ้กัน คือ เลนส์แว่นตา มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ 19.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงถึง 132.95% โดยสหรัฐฯ มีการนำเข้าเลนส์แว่นตาจากไทยมากเป็นลำดับที่ 2 รองจากเม็กซิโก แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่ได้รับสิทธิ์จากสหรัฐฯ ด้วยกันเองแล้ว พบว่า สหรัฐฯ มีการนำเข้าเลนส์แว่นตาจากไทยมากเป็นอันดับ 1 และยังมีสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงอื่น ๆ อีก เช่น อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง กรดมะนาว หรือกรดซิทริก เป็นต้น

ส่วนโครงการ GSP อื่น ๆ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง เช่น ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ (สวิตเซอร์แลนด์) กระเป๋าเดินทางด้านนอกเป็นแผ่นพลาสติกหรือวัตถุทอ (สวิตเซอร์แลนด์) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) และสูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ ได้สิ้นสุดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 และขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ์ GSP สหรัฐฯ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าโครงการจะได้รับการต่ออายุ แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ์ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการได้รับการต่ออายุแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น