สนค. เผยผลศึกษาศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพของไทย พบมีโอกาสเติบโตสูงมาก หลังทั่วโลกตื่นตัวเรื่องสุขภาพและการดูแลตนเอง ชี้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีศักยภาพมาก คาดเติบโตสูง จากเปิดท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ อสังหาริมทรัพย์ มีโอกาสพัฒนา สปา มีความโดดเด่น แต่ต้องพัฒนาอัตลักษณ์ สร้างจุดขาย ส่วนโภชนาการและลดน้ำหนัก สุขภาพและความงาม ยาแผนโบราณและอาหารเสริม เวชศาสตร์ป้องกัน มีโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก รวมถึงน้ำพุ น้ำแร่ร้อน ที่มีโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าในจังหวัดอันดามัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพ หรือ Wellness Economy ของไทย พบว่า มีโอกาสเติบโตสูงมาก จากการที่ทั่วโลกตื่นตัวการใส่ใจต่อสุขภาพและการดูแลตนเองที่มากขึ้น โดยมีข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (The Global Wellness Institute - GWI) ที่ประเมินว่าอุตสาหกรรมเวลเนสของโลก ระหว่างปี 2566-2568 จะมีโอกาสเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดยปี 2568 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 6.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสัดส่วนมูลค่าตลาดเกือบ 70% จะอยู่ที่ 4 สาขา ได้แก่ 1.การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและความงาม สัดส่วน 19.90% 2.โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วน 17.04% 3.การออกกำลังกาย สัดส่วน 16.89% และ 4.ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สัดส่วน 15.88%
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพด้านเวลเนสในหลากหลายด้าน ได้รับการจัดอันดับ 1 ในการเป็นจุดหมายด้านการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ (Wellness Retreat 2020, www.slingo.com) อันดับ 5 ประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี (Global Health Security Index 2021) และอันดับ 5 ประเทศที่มีอิทธิพลของมรดกทางวัฒนธรรม (Culture Heritage Influence 2021, นิตยสาร CEOWorld) และไทยเองก็มีนโยบายในการสนับสนุนประเทศไทยเป็นระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย (Thailand Wellness Economic Corridor : TWC) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเวลเนสของไทย
“จากศักยภาพและขีดความสามารถในอุตสาหกรรมเวลเนส หากไทยมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเวลเนสในสาขาที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น จะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายด้านเวลเนสสูง และช่วยในการกระจายรายได้ไปสู่การท่องเที่ยวเมืองรอง และยังสามารถชูอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมประสานกับความโดดเด่นในพื้นที่ ควบคู่กับการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการและการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการสนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อดึงดูดการลงทุน จะช่วยบูรณาการการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมเวลเนสของไทย และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย” นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาศักยภาพของอุตสาหกรรมเวลเนสสาขาต่าง ๆ ของไทย พบว่า สาขาที่ไทยมีศักยภาพ ไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกสูงและตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกคิดเป็น 1.08% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 10.2% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,127.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยคาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นมากในช่วงหลังเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จึงเป็นสาขาที่ควรให้ความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การขยายตลาดของไทยต่อไป
สาขาที่เป็นโอกาสการพัฒนาของไทย โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ แต่ตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกคิดเป็น 0.14% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 12.4% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 580.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และการออกกำลังกาย โดยมีสัดส่วนไทยในตลาดโลกคิดเป็น 0.39% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 9.5% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,198.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งแนวโน้มการเติบโตสูง แต่ไทยมีสัดส่วนตลาดในประเทศและตลาดโลกน้อย จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้น
สาขาที่ตลาดมีขนาดเล็กแต่ไทยมีความโดดเด่น โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกสูง แต่ตลาดโลกเติบโตปานกลาง ได้แก่ สปา สัดส่วนไทยในตลาดโลก 1.55% ตลาดโลกเติบโต 7.0% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 150.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้สปามีมูลค่ารวมในตลาดโลกน้อย โดยมีสัดส่วนเพียง 1.54% และ 2.12% ของตลาดโลก ในปี 2563 และ 2568 ตามลำดับ แต่มีสัดส่วน 3.59% ของตลาดในประเทศไทย ซึ่งมองว่าไทยสามารถพัฒนาอัตลักษณ์เป็นจุดขายที่เจาะกลุ่มเฉพาะด้านได้
ส่วนสาขาที่ต้องปรับปรุงพัฒนา โดยการรีแบรนด์ หรือเพิ่มนวัตกรรม โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ และตลาดโลกเติบโตปานกลาง แบ่งเป็น สาขาที่ไทยควรส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.92% ตลาดโลกเติบโต 5.4% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,209.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การดูแลสุขภาพและความงาม สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.68% ตลาดโลกเติบโต 5.0% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,412.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยาแผนโบราณและอาหารเสริม สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.69% ตลาดโลกเติบโต 6.6% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 582.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเวชศาสตร์เชิงป้องกัน สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.46% ตลาดโลกเติบโต 5.5% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 478.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สาขาการดูแลสุขภาพและความงาม และโภชนาการและการลดน้ำหนัก มีมูลค่ารวมในตลาดโลกสูง ซึ่งต้องให้ความสำคัญในการขยายตลาด ในส่วนของยาแผนโบราณและอาหารเสริม ต้องเร่งนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูง
นอกจากนี้ ยังมีสาขาที่ไทยควรเร่งพัฒนา ได้แก่ น้ำพุ น้ำแร่ร้อน ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลก 0.03% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 7.7% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 89.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งแม้จะมีขนาดตลาดไม่ใหญ่ และไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสจากแนวโน้มสัดส่วนตลาดโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และไทยมีแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนกลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น