xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนนัดสรุปผลการทำงานด้านเศรษฐกิจครึ่งปี หาทางเร่งอุตสาหกรรม EV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาเซียนนัดประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 22 เร่งสรุปการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจครึ่งปีแรก พร้อมเดินหน้ายกระดับอาเซียนสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอน เน้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรม EV ระดับโลก และพิจารณารับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ของการเข้าเป็นสมาชิกของติมอร์-เลสเต เตรียมชงผู้นำอาเซียนเคาะ 9-11 พ.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อินโดนีเซียเตรียมจัดการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 22 ในวันที่ 7 พ.ค. 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของเสาเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 2566

โดยการประชุมครั้งนี้มีหลายประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนข้อริเริ่มด้านความยั่งยืนให้บรรลุผล โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมของอาเซียนให้รองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองปฏิญญาด้านการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านภูมิภาคไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน และลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่ง โดยส่งเสริมการใช้ EV แทนรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรม EV ระดับโลก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายกระแสไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟฟ้า แบตเตอรี่ การปรับประสานมาตรฐานระดับภูมิภาค การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรม และการอำนวยความสะดวกทางการค้า

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาประเด็นการดำเนินการตามข้อสั่งการของผู้นำอาเซียน เรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของติมอร์-เลสเต โดยจะพิจารณารับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ กฎและระเบียบสำหรับการเข้าร่วมการประชุมต่างๆ ในเสาเศรษฐกิจอาเซียนของติมอร์ ฐานะสมาชิกสังเกตการณ์ และร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัวของติมอร์ ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายการความตกลงด้านเศรษฐกิจ เพื่อจะนำไปรวมเป็นแผนการดำเนินงาน (Roadmap) ฉบับสมบูรณ์ ที่มีภาคผนวกของทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ให้การรับรองต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนปี 2566 (ม.ค.-ก.พ.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่า 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 10,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 8,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์


กำลังโหลดความคิดเห็น