“ปลัดพาณิชย์” เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฝ่าย นำเข้าและจัดจำหน่ายไวน์ GranMonte เขาใหญ่ ที่เป็นสินค้า GI ไทย เข้าสู่ตลาดเวียดนาม ล็อตแรก 3,000 ขวด มั่นใจช่วยเปิดตลาดไวน์ไทย และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแน่ พร้อมมอบทูตพาณิชย์หาทางผลักดันสินค้า GI ไทยรายการอื่นๆ เข้าสู่ตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้น
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เยือนนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฝ่าย เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายไวน์ที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากเขาใหญ่ ประเทศไทย ซึ่งพิธีลงนามประกอบด้วย ผู้แทนบริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด ผู้ผลิตไวน์ GranMonte เขาใหญ่ ผู้แทนบริษัท Phu & Em Trading Service ผู้นำเข้าสินค้าเครื่องดื่มรายใหญ่ในเวียดนาม และผู้แทนบริษัท Central Retail Vietnam ห้างค้าปลีก Tops Market รายใหญ่ ในเวียดนาม ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้าง Tops Market สาขา Thoa dien นครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา
การลงนาม MOU ในครั้งนี้จะมีมูลค่าสั่งซื้อทันทีล็อตแรก จำนวน 3,000 ขวด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท และคาดว่าใน 1 ปีจะมีมูลค่าสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันสินค้าไวน์ GranMonte เขาใหญ่เข้าสู่ตลาดเวียดนาม โดยมั่นใจว่าการร่วมมือผลักดันสินค้าไวน์ GI คุณภาพดีจากไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม จะเป็นการช่วยเปิดตลาดไวน์ไทยในเวียดนาม และไวน์ไทยจะได้รับความนิยมในเวียดนามเพิ่มขึ้น และยังได้ใช้โอกาสนี้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์หาช่องทางผลักดันสินค้า GI รายการอื่นๆ ของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม รวมทั้งผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยในเวียดนามเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับไวน์ GranMonte เขาใหญ่ เป็นไวน์ที่มีจุดเด่น เนื่องจากผลิตไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ มีชัยภูมิที่ดี มีที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะดินเป็นชุดดินวังสะพุง ประกอบด้วยหินดินดาน หินชนวน และหินอื่นๆ ที่ทับถมมาเป็นเวลากว่า 290 ล้านปี สภาพพื้นดินยังมีคุณสมบัติระบายน้ำดี และมีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเติบโตของต้นองุ่น และยังเป็นไวน์ที่ได้รับคัดสรรให้ใช้ในงานเลี้ยงในโอกาสประชุมสุดยอดผู้นำด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก 2022 (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ทั้งนี้ การผลักดันไวน์ GranMonte เขาใหญ่ ซึ่งเป็นสินค้า GI ไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนามดังกล่าว ยังสอดคล้องกับนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นผลักดันสินค้าท้องถิ่นในโครงการ Local+ ประกอบด้วย 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้า BCG ที่มุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สินค้าออร์แกนิก สินค้าอัตลักษณ์ ที่ต้องการรักษาภูมิปัญญา ความเฉพาะถิ่น คุณค่าทางวัฒนธรรม และสินค้านวัตกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการผลิต ให้มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ