xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่จบ! ปัญหาโครงสร้างร่วม "ไฮสปีด" รฟท.-ซี.พี.-สกพอ. นัด 9 พ.ค.ถกหาข้อยุติแก้สัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แก้สัญญา​ไฮสปีด 3 สนามบินติดหล่มปมโครงสร้างร่วม รฟท.นัดหารือ "ซี.พี.และ สกพอ." 9 พ.ค.นี้ หาข้อยุติช่วงทับซ้อน "รถไฟไทย-จีน" ชี้ไม่เกี่ยวส่งมอบพื้นที่ ยันออก NTP มิ.ย. 66 รอแค่ ซี.พี.ได้บีโอไอทันเวลา

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 เห็นชอบประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเงื่อนไขสัญญา “กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย” แต่ไม่พิจารณากรณีการปรับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้าง เป็นก่อสร้างไป-จ่ายไป และการก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงทับซ้อน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

อีอีซีให้ความเห็นว่า หากเอกชนไม่สร้าง รฟท.ต้องก่อสร้างเอง ซึ่งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รฟท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) จะประชุมร่วมกันในวันที่ 9 พ.ค.2566 เพื่อเร่งหาข้อยุติกรณีโครงสร้างร่วม

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมทุนฯ ซี.พี.ต้องก่อสร้างโครงสร้างของรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ต่อมามีการเจรจาให้ ซี.พี.ก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองด้วย และให้รับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มโครงสร้างร่วมของรถไฟไทย-จีน วงเงินประมาณ 9,207 ล้านบาท โดยมีการเจรจาปรับเงื่อนไขในการจ่ายเงินอุดหนุน ซึ่ง ซี.พี.ยอมตกลงแนวทางนี้แล้ว

นายนิรุฒกล่าวว่า กรณีโครงสร้างร่วมตรงจุดทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น ไม่ ซี.พี.ทำก็ต้อง รฟท.ทำ จะต่างคนต่างทำในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีพื้นที่จำกัดและจะทำให้โครงการต้องเสียเวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี และยังมีค่าก่อสร้างเพิ่มในส่วนของรถไฟไทย-จีน ที่แนวทางให้ ซี.พี.สร้างและรับผิดชอบค่าก่อสร้างนั้น รฟท.จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับเพิ่มในส่วนของโครงการรถไฟไทย-จีนแทน 

โดยตนเห็นว่าต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ รถไฟเชื่อม 3 สนามบินในประเด็นโครงสร้างร่วมฯ อยู่ดี เนื่องจากแนวทางต่างคนต่างทำแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อสร้าง ซึ่งหากรถไฟก่อสร้างโครงสร้างร่วมจะต้องปรับรายละเอียดงานโยธาหักค่างานส่วนนี้ของซี.พี.ออก หากให้ ซี.พี.ก่อสร้าง ต้องปรับรายละเอียดงานโยธา เพิ่มค่างานส่วนนี้ให้ซี.พี. 

“ก่อนหน้านี้อีอีซีให้เวลา ซี.พี.ตัดสินใจ 2 สัปดาห์ ว่าจะยังคงรับเรื่องก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงทับซ้อนอยู่หรือไม่ แต่ซี.พี.ขอขยายเวลา ตอนนี้ยังไม่เห็นแนวทางอื่น ต้องเจรจาในคณะกรรมการ 3 ฝ่ายก่อน”

นายนิรุฒกล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โดยพร้อมจะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ได้ในเดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งหากประเด็นโครงสร้างร่วมยังไม่ได้ข้อยุติไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสามารถก่อสร้างในส่วนอื่นได้ก่อน แต่ที่เป็นเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนฯ กำหนดไว้ว่า การออก NTP จะทำได้ต้องรอให้ทาง ซี.พี.ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนด้วย ซึ่งหาก ซี.พี.ยังไม่ได้ บีโอไอก็ออก NTP ไม่ได้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในวิสัยของรฟท. เพราะเป็นเรื่องที่ ซี.พี.ต้องทำตามเงื่อนไข


กำลังโหลดความคิดเห็น