xs
xsm
sm
md
lg

“หมู-ไก่-ไข่” ราคาทรงตัว ห้างจัดโปรสินค้ากันร้อน ปุ๋ยลงแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าภายในเผยสถานการณ์สินค้ากลุ่มอาหารสด ราคาทรงตัว หมูเนื้อแดงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 152 บาท ไก่น่องติดสะโพก 76 บาท ไข่ไก่ฟองละ 3.80 บาท สินค้าอุปโภคบริโภค มีทั้งลดลงและทรงตัว สินค้าป้องกันร้อน พัดลม แอร์ เครื่องฟอกอากาศ ห้างจัดโปรกันเพียบ ปุ๋ยเคมี ลดต่อเนื่อง ยูเรีย ลด 47% แอมโมเนียมซัลเฟต ลด 37% ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ลด 2-9% ยันค่าไฟไม่กระทบต้นทุน เหตุราคาลดลงจากงวดก่อน

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด ราคาทรงตัวใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน โดยหมูเนื้อแดงราคาเฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัม (กก.) ละ 152 บาท ไก่น่องติดสะโพก กก.ละ 76 บาท น่องไก่ กก.ละ 78 บาท สะโพกไก่ กก.ละ 81 บาท อกไก่ กก.ละ 79 บาท และไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.80 บาท ซึ่งราคาอยู่ในช่วงที่กรมฯ ได้กำกับดูแล และสอดคล้องกับภาวะต้นทุน แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตก็มีเพียงพอ ทั้งที่ขณะนี้เป็นช่วงหน้าร้อน

สำหรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่ราคาทรงตัวและมีการปรับลดลงหลายรายการ โดยราคาทรงตัว เช่น ข้าวสาร นมผง ซอสปรุงรส น้ำปลา น้ำตาลทราย อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ครีมอาบน้ำ น้ำยาซักผ้า ส่วนที่ลดลง เช่น ซีอิ้ว สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เป็นต้น และยังมีการจัดโปรโมชันลดราคาในส่วนของสินค้าป้องกันความร้อน ทั้งพัดลม เครื่องปรับอากาศ และเครื่องฟอกอากาศ ที่มีหลายห้างจัดลดราคา เพื่อกระตุ้นยอดขาย และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

ส่วนปุ๋ยเคมี ราคาลดลงต่อเนื่อง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และความต้องการตลาดโลกที่ลดลง โดยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ราคาลดลงแล้ว 47% ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 ลดแล้ว 37% และยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ก็ลดลงเฉลี่ย 2-9% โดยยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต ลด 2% กลูโฟซิเนต ลด 6% ยาฆ่าแมลง อะบาเม็กติน ลด 9% ยากำจัดโรคพืช โพรพิเนบ ลด 2%

ร.ต.จักรา กล่าวว่า สถานการณ์ราคาค่าไฟฟ้า ที่หลายฝ่ายมองว่าแพงขึ้น เพราะมีการใช้ฟ้ามากขึ้น และกังวลว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น กรมฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. จะลดลงเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วย ลดลงจากงวดม.ค.-เม.ย. ที่ราคา 5 บาทกว่าต่อหน่วย ซึ่งต้นทุนค่าไฟลดลง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มว่าจะพิจารณาปรับลดราคาลงอีก หากลดลงจริง ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟลดลงอีก ดังนั้น ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนสินค้า ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น

ส่วนต้นทุนอื่น ๆ ทั้งราคาน้ำมัน และวัตถุดิบ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่เพิ่ม แต่ก็มีต้นทุนค่าแรงงาน ที่เป็นปัจจัยต้องจับตา แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการ จะบริหารจัดการได้ เพราะส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าอยู่แล้ว และมีความตั้งใจที่จะไม่ปรับขึ้นราคา หากต้นทุนไม่เพิ่มขึ้นจนรับไม่ไหว เพื่อกระตุ้นยอดขาย และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

ทางด้านการขอปรับขึ้นราคาสินค้า ขณะนี้สถานการณ์เบาลง ส่วนใหญ่เป็นการขอตั้งราคาสินค้าใหม่ เพราะมีการเปลี่ยนรส เปลี่ยนกลิ่น ซึ่งกรมฯ พิจารณาแล้ว ให้ตั้งราคาเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น