กรมการค้าภายในเดินหน้านำผู้ประกอบการรับซื้อมะม่วงฟ้าลั่นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นฤดูกาลในราคานำตลาด ผ่านกลไกอมก๋อยโมเดล และกระจายออกสู่ตลาดปลายทาง ภายใต้โครงการ “Fruit Festival 2023” เพื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค มั่นใจสามารถดันราคามะม่วงปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5-19 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมากรมฯ ได้นำผู้ประกอบการเข้ารับซื้อมะม่วงฟ้าลั่นที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. 2566 แล้วกว่า 4,000 ตัน และจะขยายเข้ารับซื้อในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมหากมีผลผลิตออกมากหรือล้นตลาด เพื่อช่วยหาตลาดและระบายผลผลิตมะม่วงให้แก่พี่น้องเกษตรกร จากนั้นจะนำผลผลิตมะม่วงไปเปิดจุดจำหน่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ และจัดงาน Fruit Festival 2023 เป็นปีที่ 2 เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะมีการเปิดพรีออเดอร์มะม่วงผ่านนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพื่อระบายผลผลิตอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ จากการที่กรมฯ ได้นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อผลผลิตมะม่วงฟ้าลั่นตั้งแต่ต้นฤดูและกระจายออกนอกแหล่งผลิตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคามะม่วงฟ้าลั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 9-10 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 6-7 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้ ปัจจุบันอยู่ที่ 30 บาท/กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ 25 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 20
ในปี 2566 คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตมะม่วงในภาพรวมจะมีปริมาณรวม 1.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% กรมฯ จึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมมาตรการรับมือ และได้เดินหน้าโครงการอมก๋อยโมเดล ควบคู่กับโครงการ Fruit Festival 2023 พร้อมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลผลิตปี 2566 โดยได้นำผู้ประกอบการ ห้างค้าส่งค้าปลีก ไปรับซื้อมะม่วงจากเกษตรกร ซึ่งได้นำร่องไปแล้วที่ จ.พิจิตร และพิษณุโลก ปริมาณ 16,000 ตัน และประสานผู้ประกอบการ ห้างท้องถิ่นเข้าไปรับซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายด้วย และยังได้นำไปจำหน่ายผ่านโมบายล์พาณิชย์ 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ จำหน่ายในงานพาณิชย์ลดราคา ออนทัวร์ ทั่วไทย ซึ่งจัดในจังหวัดต่างๆ
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีมาตรการทั้งสิ้น 22 มาตรการ ดูแลตั้งแต่การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย เพื่อดูแลผลผลิตผลไม้ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดประมาณ 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% โดยได้เตรียมมาตรการหาตลาดล่วงหน้าไว้รวมกว่า 700,000 ตัน และตั้งเป้าผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% รวมทั้งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผลไม้ปี 2566 ไว้ด้วย