xs
xsm
sm
md
lg

"ปลัดคมนาคม"หารือ"ทูตอิหร่าน"ร่วมมือขนส่ง โชว์โปรเจ็กต์"แลนด์บริดจ์" และ MR 8"ลดต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปลัดคมนาคม" หารือเอกอัครราชทูต"อิหร่าน"ผลักดันความร่วมมือขนส่งสินค้าระหว่างกัน เผยไทยดัน"แลนด์บริดจ์" และ MR 8 ช่วงชุมพร – ระนอง ของไทย คาดเปิดบริการ ปี 2573 ช่วยประหยัดต้นทุน ลดเวลาขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา 5 วัน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย เข้าพบ เพื่อหารือความร่วมมือการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - อิหร่าน พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังทางตอนเหนือของอิหร่าน และการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบประเทศคาซัคสถาน โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีภารกิจหน้าที่หลักในการบริหารจัดการการขนส่งคนหรือสินค้าจากต้นทางไปสู่ปลายทางให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลาและมีราคาสมเหตุสมผล โดยกระทรวงคมนาคมได้วางกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ซึ่งกระทรวงคมนาคมภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบคมนาคมในอดีต พร้อมทั้งการสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในระยะ 20 ปี ได้มุ่งเน้นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งโดยการขนส่งในประเทศจะเน้นการขนส่งทางราง การขนส่งที่ปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยเน้นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและการบริหารจัดการใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเพื่อ “มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน”


สำหรับโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งกับประเทศอิหร่าน คือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land Bridge) เป็นหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม สร้างการเชื่อมโยงจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) โดยเฉพาะเส้นทาง MR 8 ช่วงชุมพร – ระนอง มายังท่าเรือ และการบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงสองฝั่งทะเลในรูปแบบท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One port two sides) มีการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาช่วยในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อช่วยส่งเสริมการขนส่งทางน้ำของไทยให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยกับนานาประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงจีน และเป็นช่องทางผ่านของสินค้าที่เดินทางระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งจะช่วยลดระยะทางและลดเวลาการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง 5 วัน ประหยัดต้นทุนในการขนส่งแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน และ Climate Change พร้อมทั้งเชิญชวนอิหร่านเข้าร่วมลงทุนในโครงการ Land Bridge ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2573


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังร่วมหารือถึงแนวทางเส้นทางการขนส่งสินค้าและการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมเดินหน้าผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งในมิติต่าง ๆ ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง และส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น