xs
xsm
sm
md
lg

ส่องแผน 10 ปี กทพ.ปั้นโปรเจกต์ทางด่วน 10 สาย ทุ่มกว่า 3.68 แสนล้านบาทเน้น PPP ร่วมทุนเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกวันนี้ "ทางด่วนหรือทางพิเศษ" มีความสำคัญอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่แก้ปัญหาการจราจรในเขตเมือง ช่วยให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง สามารถไปถึงที่หมายปลายทางได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินการก่อสร้างทางด่วน และเปิดให้บริการทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) เป็นเส้นทางแรก เมื่อปี พ.ศ. 2524 จนปัจจุบัน มีโครงข่ายทางด่วนที่เปิดให้บริการรวมแล้วถึง 8 สายทาง ระยะทางรวม 224.6 กิโลเมตร (กม.) ขณะที่ กทพ.ยังมีแผนพัฒนาโครงข่ายทางด่วนเพิ่มอีก 10 สายทาง ทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และโครงข่ายทางด่วนในจังหวัดภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพัฒนามากกว่า 10 ปี ใช้เงินลงทุนมากกว่า 3.6 แสนล้านบาท

“สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศ (กทพ.)
“สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” ผู้ว่าฯ กทพ. ให้คำจำกัดความขอบเขตความรับผิดชอบของ กทพ.ในการดำเนินโครงการทางด่วนว่า โครงการใหม่ที่จะเกิดหลังจากนี้ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล หากเส้นทางมีขอบเขตอยู่ภายในรัศมีของถนนวงแหวนรอบที่ 3 จะถือเป็นทางด่วนที่ กทพ.รับผิดชอบ ทั้งนี้ ไม่รวมโครงการเก่าที่มีการดำเนินการและเปิดใช้ไปแล้ว ซึ่งการดำเนินโครงการทางด่วนของ กทพ.มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และการลงทุนมีผลตอบแทนทางการเงินดี เนื่องจาก กทพ.เป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นการทำธุรกิจ สร้างรายได้ และมีกำไร สามารถจัดส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนเส้นทางนอกเขต ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ออกไปนั้น จะเป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) โดยจะถือเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ด้านโลจิสติกส์ คือรองรับการขนส่ง และเนื่องจากมีระยะทางยาว การลงทุนสูงไม่เน้นผลตอบแทนทางการเงิน ขณะที่กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานราชการที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร

@ เปิดให้บริการทางด่วนแล้ว 5 สายทาง รวม 224.6 กม.

สำหรับทางด่วนที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 8 สายทาง ระยะทางรวม 224.6 กม. ประกอบด้วย 1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ระยะทาง 27.1 กม. เปิดให้บริการปี 2524
2. ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระยะทาง 38.4 กม. เปิดให้บริการปี 2536
3. ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ระยะทาง 28.2 กม. เปิดให้บริการปี 2539
4. ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ระยะทาง 32 กม. เปิดให้บริการปี 2541
5. ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55 กม. เปิดให้บริการปี 2541
6. ทางพิเศษบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 4.7 กม. เปิดให้บริการปี 2548
7. ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ระยะทาง 22.5 กม. เปิดให้บริการปี 2552
8. ทางพิเศษประจิมรัถยา (ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ระยะทาง 16.7 กม. เปิดให้บริการปี 2559


@กางแผนลงทุน 10 ปี ทุ่ม 3.68 แสนล้านบาท ผุด 10 เส้นทางใหม่

ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างพัฒนาโครงข่ายทางด่วนเพิ่มเติม จำนวน 10 สายทาง โดยกำลังก่อสร้าง 1 สายทาง คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. มูลค่าลงทุน 31,244 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 807 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท มีงานโยธา 4 สัญญา ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้ว สัญญา 1 คืบหน้า 21.14% เร็วกว่าแผน 0.23%( แผนงาน 20.91%) สัญญา 2 คืบหน้า 64.90% เร็วกว่าแผน 0.93% (แผนงาน 63.97%) สัญญา 3 คืบหน้า 22.29% เร็วกว่าแผน 1.38% (แผนงาน 20.91%) สัญญา 4 คืบหน้า 99.21% เร็วกว่าแผน 22.70% (แผนงาน 76.51%)

“เส้นทางนี้ กทพ.มีแผนที่จะเปิดบริการบางส่วนก่อนช่วงกลางปี 2567 ถือเป็นการทดลองใช้ โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง ประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะเป็นการเปิดให้บริการเต็มระบบปลายปี 2567 “

อยู่ระหว่างประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน 1 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. ค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 8,878 ล้านบาท) ซึ่งจุดเริ่มต้นเป็นโครงการของพื้นที่ภูเก็ตเอง ที่ต้องการแก้ปัญหารถติดในจังหวัด ต่อมาได้ยกให้ กทพ.ดำเนินการ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษา ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นเวลารวม 8 ปี จนได้อนุมัติโครงการ โครงการนี้มีความล่าช้า ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งวงเงินเปิดประมูลเป็นตัวเลขค่าก่อสร้างเก่า ไม่ได้ปรับเพิ่ม ขณะที่ปริมาณจราจรคาดว่าจะลดลงจากแผนงานเดิมหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ต้องรอดูว่าในวันที่ 7 เม.ย. 2566 จะมีเอกชนยื่นข้อเสนอกี่ราย

@เร่งทีโออาร์ปักหมุด พ.ค.นี้ เปิดประมูล "ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา"

โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.2 กม. ค่าลงทุน 24,060 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,727 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 20,333 ล้านบาท) เป็นโครงการที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ก่อนมีการประกาศยุบสภา ซึ่งตามแผนงานจะเปิดประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2566 ขณะที่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรณีปรับแนวไปเชื่อมกับ MR 10 ของกรมทางหลวง หากศึกษาเสร็จจะเสนอ ครม.ต่อไป


@ปั้น 2 โครงการ มูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท รอชง ครม.ใหม่ปลายปี 66

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่กำลังศึกษา และจะสรุปในปีนี้ พร้อมเสนอ ครม.ชุดใหม่อนุมัติ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30 กม. ค่าลงทุน 35,800 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,300 ล้านบาท) มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ ต.เทพกระษัตรี บริเวณจุดตัด ทล.4024 (ถนนเลี่ยงเมือง) ต.เกาะแก้ว โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว บริเวณ ต.ศรีสุนทร ลงไปทางทิศใต้ขนานไปกับ ทล.4024 สิ้นสุดที่ ต.กะทู้ บริเวณจุดตัด ทล.4029 เชื่อมกับทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง

อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ คาดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และกลางปีนี้จะศึกษา EIA เสร็จ และจะพร้อมนำเสนอขออนุมัติ ครม.ใหม่ได้ประมาณปลายปี 2566 “โครงการนี้คาดผลตอบแทนดี เพราะรองรับปริมาณจราจรจากสนามบินเข้าเมือง หรือป่าตอง จาก 1-2 ชั่วโมง เหลือ 40 นาที เป้าหมาย ทางด่วนจังหวัดภูเก็ตทั้ง 2 ช่วงจะเสร็จในปี 2570 ทันการจัดงาน World Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูญกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท จะประมวลข้อมูลสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณาในเดือนเ ม.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเตรียมเสนอ ครม.ขออนุมัติ ซึ่งโครงการ N2 จะเป็นโครงการทางด่วนสายแรกที่ กทพ.จะนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา

@ตั้งเป้าเจรจา ม.เกษตรฯ จบ ลุยสร้างอุโมงค์ด่วน N1

โครงการระยะที่ 2 (ส่วนทดแทนตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูญกิจ) ระยะทาง 11 กม. มูลค่าลงทุน 31,747 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 30,747 ล้านบาท) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ มีความคืบหน้า 41.49% โดยวันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ โดยจุดเริ่มต้นจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชที่ทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน อุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจร ลอดใต้ถนนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่าน ม.เกษตรศาสตร์ และยกระดับเชื่อมต่อทางพิเศษตอน N2

@กลางปี สรุปโปรเจกต์ทางด่วน 2 ชั้นแก้รถติด จ่อเจรจา BEM ลงทุนแลกขยายสัมปทาน

โครงการแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 ระยะทาง 17 กม. ค่าลงทุน 34,028 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น หรือ "Double Deck" จากทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ขนาด 4 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวทางด่วนขั้นที่ 2 มุ่งทิศใต้ และเลี้ยวซ้ายไปทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน สิ้นสุดที่บริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม คืบหน้า 73.54% จะมีการประชุมรับฟังความเห็นประชาชนครั้งที่ 2 ในเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งแนวทางการลงทุน คือ เจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นผู้ลงทุน แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานออกไป


@เร่งศึกษาทบทวน 5 โครงการ รับโอนจากกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท

เมื่อเดือน ก.ค. 2565 กทพ. กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการความร่วมมือ โดยมีการถ่ายโอนโครงการจาก ทล.และ ทช.มาให้ กทพ.รับผิดชอบดำเนินการแทน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงาน ซึ่ง กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียด และรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจำนวน 5 โครงการ คือ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30 กม. ค่าลงทุน 35,800 ล้านบาท จะสรุปการศึกษาในปี 2566

อีก 4 โครงการ ได้แก่ ทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กม. ค่าลงทุน 21,892 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 788 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 21,104 ล้านบาท) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวมอเตอร์เวย์สาย 7 และสิ้นสุดที่บริเวณมอเตอร์เวย์ กม.18 โดย กทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมฯ และออกแบบกรอบรายละเอียดโครงการ ซึ่งคาดเริ่มศึกษาในเดือนพ.ค. 2566

“เส้นทางสายนี้ กทพ.มีแนวคิดจะเชิญ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ร่วมลงทุน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่รองรับผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการโดยรวม

โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร-จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 71.6 กม. (ทางด่วนริเวียร่า) ค่าลงทุน 109,250 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,250 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 95,000 ล้านบาท) เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่าย MR10 หรือถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งถือว่ามีระยะทางยาวมาก จุดเริ่มต้น บนถนนพระราม 2 (ทล.35) ที่ จ.สมุทรสาคร ข้ามแม่น้ำท่าจีน และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.สมุทรปราการ และสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับโครงข่าย MR10

กทพ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสมฯ และออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการ


โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 20 กม. ค่าลงทุน 33,900 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 31,400 ล้านบาท) รับโอนจาก ทช.เมื่อเดือน ก.ค. 2565 เตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม จากข้อมูลเดิมค่าลงทุนสูง เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะ ซี่งพบว่ามีจุดที่มีร่องน้ำลึก โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการจากแผ่นดินใหญ่จ.นครศรีธรรมราช หรือ จ.สุราษฎร์ธานี มีรูปแบบเป็นสะพานขึง (Cable-Stayed Bridge) เชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย

“เป็นโครงการที่มีความท้าทาย โครงสร้างทางยกระดับ สะพานตอม่อลึก ก่อสร้างยาก จากปกติทางด่วนเป็นทางยกระดับ ค่าก่อสร้างสูง แต่เกาะสมุยเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่จัดส่งรายได้เข้าประเทศ อันดับ 3 จะหารือกับสภาพัฒน์ และหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป”

โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง ระยะทาง 6 กม. ค่าลงทุน 15,000 ล้านบาท จุดเริ่มต้นโครงการในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จ.ตราด เชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จ.ตราด กทพ.จะทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯในปีนี้เช่นกัน

ผู้ว่าฯ กทพ.คาดว่าแผนลงทุนโครงการทางด่วนทั้ง 10 สายทางนี้ต้องใช้เวลาพัฒนาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่ง กทพ.มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และมีรูปแบบในการจัดหาแหล่งเงินลงทุนโครงการที่หลากหลาย ทั้งการกู้เงิน จากรายได้จากค่าผ่านทาง หรือจากการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) รวมไปถึงการระดมเงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) โดยเบื้องต้นประเมินว่าการดำเนินโครงการส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงินดี


กำลังโหลดความคิดเห็น