การตลาด - พูดได้เต็มปากว่าปี 2566 นี้ธุรกิจเพลงได้ถือกำเนิดเกิดใหม่อีกครั้ง จากความนิยมแบบกระหึ่มบนโลกออนไลน์ สู่กิจกรรมออนกราวนด์ คอนเสิร์ต งานโชว์ ที่ต้องจองคิวกันข้ามปี พ่วงด้วยงานพรีเซ็นเตอร์กลับมารุมอีกครั้ง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เทียบยุคเฟื่องฟูสมัย Y2K ได้ไม่แพ้กัน “แกรมมี่ มิวสิค” พร้อมกดปุ่ม PLAY ปล่อยเพลงใหม่ปีละ 500 เพลง เฟสติวัลอีก 9 งานต่อปี ขยับฐานผู้ฟังสู่กลุ่มทัวริสต์ และระดับอินเตอร์ ..นับจากนี้ “เพลงแกรมมี่” ไม่มีสะดุด ฟังกันยาวๆ สู่ทศวรรษที่ 5 ปักธงรายได้กลับมาพีก รับทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทอีกครั้ง จับตาดีลประวัติศาสตร์ “GMM ผนึก RS” ตั้งกิจการร่วมค้าอะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส
วันวานยังหวานอยู่ สำหรับวงการเพลงไทย ใครกันจะปฏิเสธได้ว่าวงการเพลงไทยยุคที่เฟื่องฟูที่สุด คือยุค Y2K หรือช่วงปลาย 90 จนถึงปี 2000 ผลงานยุคนั้นยังคงออกมาในรูปแบบของเทปคาสเซตอยู่เลย ว่ากันว่าความดังมันวัดกันที่ยอดขาย 1 ล้านตลับขึ้นไป ซึ่งก็มีหลายศิลปินที่ดังถึงขีดสุด นอกจากยอดขายจะทำสถิติสูงสุดแล้ว ยังฉลองล้านตลับด้วยการเปลี่ยนปกเทปใหม่กันเป็นว่าเล่น จัดเป็นช่วงเวลาที่หอมหวานที่สุดของวงการเพลงไทย และดีที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมา ติดลมบนและติดอยู่ในใจคนเจน x และเจน Z มาจนถึงทุกวันนี้ เว้นเสียแต่มันก็มีช่วงดรอปลงไป กับการมาของพายุดิจิทัลดิสรัปชันที่โหมซัดเข้าใส่ งานเพลงไทยถึงคราวล้มทั้งยืน เจ็บระนาว เกือบไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว ระหว่างนี้ถือเป็นช่วงแตกใบอ่อน ค่ายเล็กค่ายน้อย ค่ายอินดี้ ผุดเป็นดอกเห็ด นักร้องศิลปินหน้าใหม่แจ้งเกิดเพียบ ให้ขานชื่อกันจนจำไม่หวาดไม่ไหว เพราะความไวของโซเชียล และสตรีมมิ่ง นับเป็นช่วงเวลาบ่มเพาะสร้างแรงกระเพื่อมได้เป็นอย่างดี จนนำมาสู่ปี 2566 นี้ ที่กล่าวได้เต็มปากว่า.. “วงการเพลงไทยก้าวข้ามมาสู่ยุคของการเกิดใหม่ได้อีกครั้ง”
“แกรมมี่” ยักษ์ใหญ่วงการเพลงเมืองไทย เดินทางปล่อยบทเพลงออกสู่ตลาดมาจนถึงวันนี้เข้าปีที่ 40 แล้ว และยังคงก้าวต่อไปสู่ทศวรรษที่ 5 กับความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นธุรกิจเพลงเติบโตอย่างยั่งยืนไปจนถึงปีที่ 80 กันเลยทีเดียว
“ที่ผ่านมาแกรมมี่ได้ปรับทิศทางธุรกิจเพลงใหม่ จากโมเดลฟิสิเคิลบิสิเนสมาสู่ดิจิทัลบิสิเนส นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเพลงของแกรมมี่อยู่รอดมาจนถึงวันนี้” นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าว
นายภาวิตกล่าวว่า วงการเพลงไทยช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด คือยุค Y2K รายได้จากธุรกิจเพลงของแกรมมี่ทำได้นับหลายพันล้านบาทต่อปี ส่วนช่วงที่วงการเพลงไทยตกต่ำในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน และช่วงโควิดอย่างปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจแกรมมี่ มิวสิค มีรายได้รวมเพียง 2,759 ล้านบาท ติดลบไปกว่า 1,000 ล้านบาท กำไรเหลือเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น
“ช่วงโควิด ธุรกิจเพลงในแง่การจัดงานโชว์ คอนเสิร์ต และกิจกรรมต่างๆ ทำไม่ได้เลย รายได้กลุ่มนี้หายไปหมด แต่ในแง่ของการฟังเพลงแล้ว ไม่ได้หายไปไหน คนไทยยังชอบฟังเพลงและติดตามผลงานใหม่ๆ อยู่ ยังคงมีดีมานด์อยู่ แต่เป็นการฟังเพลงผ่านช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ แทน โอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ทางบริษัทจึงใช้เงินกว่า 500 ล้านบาท ในการพัฒนาระบบ พัฒนาศิลปิน เฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่ และออกผลงานเพลงใหม่ ในช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จนเกิดกระแสการตอบรับกลับมาสูงมาก เช่น ยอดการฟังเพลงมากกว่า 100 ล้านวิว อย่างเพลง นะหน้าทอง ของ โจอี้ ภูวศิษฐ์ หรือเพลง ทรงอย่างแบด วง Paper Planes ที่ดังเปรี้ยงในชั่วข้ามคืนโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นฟันน้ำนม ที่ยกให้เป็น หัวหน้าแก๊งกันไปแล้ว”
กระแสการตอบรับอย่างล้นหลามเหล่านี้ ส่งผลให้ตลาดเพลงไทยกลับมาคึกคักเทียบได้กับยุค Y2K อีกครั้ง
“ปีนี้วงการเพลงไทย พูดได้ว่าเป็นยุคของการเกิดใหม่ได้เลย” นายภาวิตกล่าวย้ำ และว่า เห็นได้จากความสำเร็จของแกรมมี่ มิวสิค ในปี 2565 ที่ผ่านมาทำรายได้รวมกว่า 3,043 ล้านบาท โต 67% กำไรอีกกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งรายได้เหล่านี้มาจาก 1. DIGITAL BUSINESS 1,089 ล้านบาท 2. ARTIST MANAGEMENT BUSINESS 742 ล้านบาท 3. SHOWBIZ BUSINESS 542 ล้านบาท 4. RIGHT MANAGEMENT BUSINESS 236 ล้านบาท 5. PHYSICAL BUSINESS 145 ล้านบาท
*** เปิดสถิติฝ่าวิกฤต
หรือในปีที่ผ่านมา แกรมมี่ มิวสิค ทำเพลงออกมามากกว่า 400 เพลง เป็นลูกทุ่ง 195 เพลง, ป็อป 72 เพลง และร็อก 137 เพลง รวมแล้วกว่า 30 อัลบั้ม, 153 ซิงเกิล, 44 เพลงประกอบละคร, 48 เพลงคัฟเวอร์ และ 3,817 เพลย์ลิสต์
นอกจากนี้ ในปี 2565 เพลงและศิลปินของแกรมมี่ยังคงครองใจแฟนๆ ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้มีเพลงยอดนิยมเข้าไปติดอันดับชาร์ตเพลงของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ และยังเป็นปีของการแจ้งเกิดศิลปินใหม่ ครบทุกแนวเพลง ทั้งป็อป ร็อก และลูกทุ่ง โดยสรุปได้ดังนี้
1. Year of New Age Artist : ได้สร้างปรากฏการณ์แห่งการแจ้งเกิดของศิลปินใหม่ทั้งสาขา ป็อป ร็อก และลูกทุ่ง เริ่มจาก Paper Planes, Three Man Down, Tilly Birds, ไททศมิตร, โจอี้ ภูวศิษฐ์, Monica, เวียง นฤมล, เบียร์ พร้อมพงษ์, เบล นิภาดา และ New Country
2.Year of Recruitment : การเฟ้นหาศิลปินใหม่ ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อการคัดสรรและฝึกสอนโดยมืออาชีพอย่าง GMM ACADEMY ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากน้องๆ กว่า 10,000 คน ในส่วนของ YG”MM ที่เปิดรับสมัครในปีที่ผ่านมาก็มียอดผู้สมัครถล่มทลายกว่า 9,000 คน ทั้งนี้ การสร้างศิลปินใหม่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพให้ศิลปินรุ่นใหม่ให้มีทักษะและสามารถแสดงผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในระดับสากล
3. Top 100 Thai Songs of The Year : แกรมมี่ มิวสิค เป็นค่ายเพลงที่มีเพลงฮิตติด Thailand Billboard Chart มากที่สุดถึง 37% ครองความเป็นค่ายเพลงอันดับ 1 ที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตมากที่สุด
4. Top Performance on YouTube : มนต์แคน แก่นคูน ยังรั้งแชมป์ศิลปินลูกทุ่งขวัญใจมหาชนที่มียอดการสตรีมรวมใน YouTube ประเทศไทยสูงสุดถึง 3 ปีซ้อน กว่า 800 ล้านวิว
5. Top Performance on TikTok : Paper Planes เจ้าของเพลงฮิตอย่าง ‘ทรงอย่างแบด’ กับที่สุดของสถิติ 1,000 ล้านวิว ตามมาด้วยศิลปินลูกทุ่งหญิง กับ หญิงลี เจ้าของเพลง ‘คาเฟอีน’ เพลงติดหูและเพลงเต้นแห่งปีกับสถิติ 400 ล้านวิว และกลุ่มศิลปินลูกทุ่งหน้าใหม่ไฟแรงอย่าง New Country กับเพลง ‘Stand by หล่อ’ ที่ทำลายทุกสถิติด้วยยอดวิว 200 ล้านวิวภายในเวลาอันสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok
อย่างไรก็ตาม ผลงานในปี 2565 ที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่าเพลงใหม่ที่ปล่อยออกมามีคนฟังเฉลี่ย 16% หรือราว 2,150 ล้านสตรีม (แบ่งเป็น เพลงร็อก 40% ลูกทุ่ง 32% ป็อป 14% เพลย์ลิสต์ 8% เพลงประกอบละคร 6%) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 15% ถือเป็นอีกตัวชี้วัดแสดงให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจเพลงไทยที่กำลังกลับมาเติบโต ขณะที่อีก 84% ยังฟังเพลงเก่า เทียบจากการฟังสตรีมมิ่งทั้งหมดกว่า 14,000 ล้านสตรีม ซึ่งมองว่าเพลย์ลิสต์ เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ยอดการฟังเพลงเพิ่มขึ้น ผู้ฟังใช้เวลากับการฟังเพลงนานขึ้น
นอกจากนี้ กับความดังของตัวศิลปินเองนั้น ในปีที่ผ่านมา ศิลปินหลายๆ คนก็มีงานโฆษณา พรีเซ็นเตอร์เข้ามามากมาย โดยเฉพาะ Paper Plane ที่ฟาดไปไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ รวมถึง THREE MAN DOWN และโจอี้ ภูวศิษฐ์ ก็มีงานพรีเซ็นเตอร์ ถ่ายโฆษณาเข้ามารัวๆ
ดังนั้น ในปี 2566 นี้บริษัทตั้งเป้ารายได้จากกลุ่มแกรมมี่ มิวสิค ไว้ถึง 3,800 ล้านบาท โต 25% หรือมาจาก 1. DIGITAL BUSINESS 1,200ล้านบาท โต 10% 2. ARTIST MANAGEMENT BUSINESS 1,050 ล้านบาท โต 42% 3. SHOWBIZ BUSINESS 898 ล้านบาท โต 66% 4. RIGHT MANAGEMENT BUSINESS 300 ล้านบาท โต 27% 5. PHYSICAL BUSINESS 200 ล้านบาท โต 38% และ 6. อื่นๆ
*** งัด 5 กลยุทธ์รุกตลาด
นายภาวิตกล่าวต่อว่า ในแง่ของการลงทุน ปีนี้บริษัทใช้งบมากกว่า 1,500 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพลง โดยจะเน้นใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ ARTIST MANAGEMENT BUSINESS และ SHOWBIZ BUSINESS ภายใต้ 5 กลยุทธ์ที่จะใช้กดปุ่ม ‘PLAY’ เล่นเพลงกันไปยาวๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
1. Entertainment Data Intelligence
1.1 การลงทุนแพลตฟอร์มด้าน Big Data เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่าย Showbiz หรือฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.2 การลงทุนในการใช้ Machine Learning และ AI เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของแฟนเพลง ศิลปิน แบรนด์สินค้า ตลอดจนสื่อทุกแขนงที่มีความเกี่ยวพัน นำไปสู่ความแม่นยำอันสูงสุดในการเลือกใช้ศิลปิน การหาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ กับแบรนด์สินค้า หรือสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลายตลอดจนนำไปสู่เรื่องของการทำ Data Prediction ที่สามารถมองเห็นความต้องการและปริมาณการซื้อบัตรใน Showbiz สาขาต่างๆ ได้อย่างแม่นยำก่อนการขาย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่แกรมมี่ มิวสิค จะเดินหน้าขยาย Music Data สู่ Personalization Commerce ในเร็ววัน และจะเติบโตสู่การเป็น Entertainment Big Data ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด
2. No.1 Music Performance in Thai Market
2.1 สร้างสรรค์และจัดวางแบรนด์ศิลปินให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์
2.2 ขยายกำลังการผลิตเพลงเพิ่มเป็น 500 เพลง 32 อัลบั้ม 160 ซิงเกิล 5,000 เพลย์ลิสต์ ต่อปี
2.3 รักษามาตรฐานการเป็นค่ายเพลงที่มียอดการสตรีมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทั้งจากเพลงใหม่และเพลงเก่า
3. Rebuild The New Generation
3.1 วางเป้าหมายในการสร้างศิลปินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปินร็อก (New Rock Idol), ศิลปินลูกทุ่ง (New Country Idol) และศิลปินป็อปไอดอล (New Pop Idol) พร้อมเดบิวต์สู่ตลาดมากกว่า 15-20 ศิลปินใหม่/ปี
3.2 สร้างเครือข่าย Recruitment ในการเฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัด ผ่านความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันสอน ร้อง-เต้น โมเดลลิ่ง มิวสิกคอมมูนิตี โปรดิวเซอร์ และผู้จัดในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะมีการคัดเลือกเข้า-ออกตลอดอย่างต่อเนื่องทั้งปีด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นของ GMM ACADEMY
4. Digital Crossover
4.1 สร้างรายได้ให้เติบโตสูงสุดในกลุ่ม Digital Music ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน Digital Performance
4.2 นำความเชี่ยวชาญต่อยอดในการสร้าง Performance ที่สูงขึ้นในทุกโซเชียลมีเดียของค่ายและศิลปิน
4.3 เชื่อมโยงโอกาสระหว่าง Music Marketing, Music Optimization และ Music Playlist ให้เกิดการเติบโตทั้งด้านรายได้ และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภค
5. No.1 Showbiz in Thailand
5.1 ยึด 7 จุดยุทธศาสตร์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้าน Music Festival - Indoor Concert ที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด มีศิลปินมากที่สุด และมียอดผู้ชมมากที่สุด กับ 9 งานเฟสติวัลที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหญ่ เฟส 4 ที่เชียงใหม่, เฉียงเหนือ เฟส ที่นครราชสีมา, พุ่งใต้ เฟส ที่ภาคใต้, นั่งเล 2 ที่ชะอำ, ร็อก ออน เดอะ บีช ที่พัทยา, นั่งเล่น 7 ที่เขาใหญ่, ร็อก เมาน์เทน 2 ที่เขาค้อ, มอนเตอร์ส มิวสิค เฟส 2 ที่ กทม, บิ๊กเมาน์เทน 13 และคอนเสิร์ตศิลปินไทย 4 งาน เช่น ไมโคร และทรีแมน ดาวน์ อีกส่วนหนึ่ง
5.2 ขยายเข้าสู่โอกาสใหม่ ในการสอดแทรกเข้าสู่งานเทศกาลประจำจังหวัด อย่างงานเทศกาลสงกรานต์ เชียงใหญ่ ถ้าดีจัดต่อเนื่อง และขยายสู่ สงกรานต์ 4 ภาค, งานฮัลโลวีน ดีจัดต่อเนื่อง, งาน LGBTQ+ งานเทศกาลดนตรีระดับสากล คอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง ในกลุ่ม K-pop ถือเป็นการสร้างรุกเข้าสู่กลุ่มทัวริสต์ และต่างประเทศให้เข้ามาสัมผัสกับงานต่างๆ ภายใต้การทำงานของกลุ่ม จีเอ็มเอ็ม มิวสิค
“อนาคตกลุ่มโชว์บิซและดิจิทัลจะเป็นขาสำคัญที่จะมาขับเคลื่อนธุรกิจเพลง ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะต้องมีรายได้อย่างน้อย 1,000 ล้านบาทขึ้นไปด้วย และจาก 5 กลยุทธ์ที่กล่าวมา มั่นใจว่า 5 ปีนับจากนี้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่อง หรือกลับมาสู่รายได้ 4,000 ล้านบาทอีกครั้ง” นายภาวิตกล่าวสรุป
*** GMM - RS ตั้งกิจการร่วมค้าอะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส
อย่างไรก็ตาม มีปรากฏการณ์ที่สำคัญในวงการเพลงของไทย เมื่อ แกรมมี่ กับ อาร์เอส คู่แข่งในตำนาน มีการจับมือร่วมกันชนิดที่สร้างเซอร์ไพรส์กับคนในวงการและนอกวงการ เมื่อทางเพจ Yothana Boonorm ได้โพสต์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 มีนาคม ว่า “เป็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ อยากบอกมานาน ได้บอกสักที Concerts ที่จะหยุดทุก Concert (โปรดสังเกตว่ามี S ท้าย Concert) เตรียมเปลี่ยนแผนทุกแผนที่คุณเตรียมไว้ปีนี้ เตรียมซ้อมร้องเพลงแกรมมี่อาร์เอสไว้ให้พร้อม 28 เดือนนี้ เฉลยทุกเรื่อง”
เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทางแกรมมี่เพิ่งจะแถลงข่าวไปถึงแผนงานคอนเสิร์ต ว่าปีนี้พร้อมปักธง No.1 Showbiz in Thailand มุ่งยึด 7 จุดยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ กับการจัดมิวสิกเฟสติวัล, เพิ่มโอกาสจัดงานในระดับจังหวัด อย่างงานสงกรานต์ และงานฮัลโลวีน เพิ่มงานเฟสติวัลในกลุ่ม LGBQ+ งานเทศกาลดนตรีระดับสากล และงานแฟนมีตติ้งในกลุ่ม K-pop พร้อมเปิดรายชื่อคอนเสิร์ตใหญ่ให้กับศิลปินในสังกัดอีก 2-3 งาน หรือรายได้โชว์บิซปีนี้น่าจะทำได้กว่า 898 ล้านบาท โต 66%
ก่อนหน้านี้เอง เฮียฮ้อ - สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ก็ได้เปรยว่างานคอนเสิร์ตของอาร์เอสปีนี้จะมีความพิเศษมากกว่าครั้งที่ผ่านมา มากกว่าการนำศิลปินเก่ามาร่วมงานอย่างที่ทุกคนเข้าใจ จากแผนงานคอนเสิร์ตที่อาร์เอสจะจัดขึ้นในปี 2566 ภายใต้คอนเซ็ปต์ #inCOOLsiveExperience สร้างประสบการณ์ร่วมที่คูลกว่าสำหรับทุกเจเนอเรชัน กับ 4 คอนเสิร์ตใหญ่ที่รวมทุกความออริจินัลของ อาร์เอส ที่ทุกคนคิดถึง ได้แก่ RS Hits Journey 2023, D2B 22nd Anniversary Concert 2023, Kamikaze Party Reunion และ RS Meeting Danceventure Concert 2023 และจะจัด Music Festival 4 ฤดู ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ชะอำ, สวนผึ้ง กรุงเทพฯ และเขาใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมคอนเสิร์ตใหญ่และ Music Festival กว่า 1 แสนคน และวางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 550 ล้านบาท
ล่าสุดทั้งสองค่ายได้เปิดเผยถึงแผนงานเบื้องต้นในครั้งนี้แล้วว่าจะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ ร่วมทุนในการจัดตั้ง “กิจการร่วมค้าอะครอส เดอะ ยูนิเวิร์ส (ACROSS THE UNIVERSE JOINT VENTURE)” อย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการร่วมมือกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยทั้ง 2 บริษัทพร้อมลงนามตกลงความร่วมมือในการหยิบจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทในการร่วมลงทุน เพื่อส่งมอบความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดให้คนไทย โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.ที่จะถึงนี้
ดังนั้น โปรเจกต์นี้ถือเป็นสุดยอดของงานคอนเสิร์ตศิลปินเมืองไทยที่จะกำลังจะเกิดขึ้น และงานนี้นอกจากเราจะได้เห็น พี่เจ - เจตริน แบทเทิลกับ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง แบบเต็มอิ่ม เราอาจจะได้เห็นการทัวร์คอนเสิร์ตคู่ หรืองานเพลงคู่ ก็เป็นไปได้หมด และไม่ใช่เพียง 2 คนนี้เท่านั้น ศิลปินคนอื่นๆ ที่มีสิทธิ์ยืนชนไหล่กันให้ได้เห็นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เต๋า-มอส, ปาน-โบ เป็นต้น และนี่คือยุคงานเพลงไทยที่พร้อมใจกันยกระดับเพื่อแข่งขันสู่โกลบอล ตามรอย K-Pop อย่างแท้จริง