xs
xsm
sm
md
lg

ส.ยานยนต์ไฟฟ้านำ 8 ค่ายรถถก "คปภ." เบรกเบี้ยประกันภัยหลังสูงกว่ารถยนต์สันดาป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยนำทัพ 8 ค่ายรถหารือร่วมสำนักงาน คปภ. สมาคมนายหน้าประกันภัย ถกประเด็นเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงกว่ารถยนต์สันดาป 20-30% และการรับประกันแบตเตอรี่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคนิคและเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค โดยที่ประชุมได้สรุปข้อตกลงช่วงนี้จะไม่ขึ้นเบี้ยประกันเพิ่มเติมอีก

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
เปิดเผยว่า เมื่อ 10 มี.ค.ที่ผ่านมาสมาคมฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากค่ายรถยนต์ 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด, บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เนต้า ออโต้ ไทยแลนด์ จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เพื่อร่วมหารือแนวทางการเเก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเบี้ยประกันสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายในทั่วไปราว 20-30% ซึ่งที่ประชุมได้ข้อตกลงร่วมกันว่าช่วงนี้บริษัทประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันเพิ่มเติมโดยบริษัทประกันภัยจะคงราคานี้ไว้ก่อน

นอกจากนี้ คปภ.ยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิค ข้อมูลทางสถิติ และเพื่อร่วมกันสื่อสารข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการรับประกันภัยยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในประเภทต่างๆ กรณีที่เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัย

“ขณะนี้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากข้อมูลกรมขนส่งทางบก ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทุกประเภทมีจำนวนกว่า 36,775 คัน (จดทะเบียนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566) และมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยทุกฝ่ายจึงเห็นว่าควรกำหนดเบี้ยประกันที่เหมาะสม ขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้าที่ลักษณะการซ่อมแซมที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของศูนย์บริการ ในการประเมินความเสียหาย เพื่อตัดสินใจในการซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคของสำนักงานใหญ่ของแบรนด์นั้นๆ ในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ เพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ปัญหาไม่ถูกจุด อันจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบยกชุด และจะมีผลให้อัตราค่าสินไหมทดเเทนของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าความเป็นจริงจึงจะมีความร่วมมือกันใกล้ชิดในเรื่องนี้” นายกฤษฎากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น