xs
xsm
sm
md
lg

“ถังหมักรักษ์โลก” ผลงาน BCG แปลงเศษอาหาร ผัก ผลไม้ เป็นปุ๋ยหมักมาปลูกพืช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก หรือขยะมูลฝอยประเภทสารอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เศษผักและผลไม้ เป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และหาทางแก้ไขมาโดยตลอด เห็นได้จากการมีนโยบายในการลดการใช้พลาสติก เพราะเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ส่วนขยะประเภทสารอินทรีย์ ก็มีความพยายามในการลดการเกิดขยะเหลือทิ้ง และพยายามหาทางกำจัดอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นของเน่าเสีย แหล่งรวมเชื้อโรค กลิ่นเหม็น และก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

จากความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะประเภทสารอินทรีย์ ได้เกิดแนวคิดในการกำจัดของเสียที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้ง เศษผัก เศษผลไม้เหลือทิ้ง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แทนที่จะทิ้ง ปล่อยให้เน่าเสีย จึงเป็นที่มาของการคิดค้น ถังหมักรักษ์โลก Chatree Zero Waste ของนายธรรมศาสตร์ จันทรัตน์ Young Smart Famer เพชรบูรณ์ จากไร่ชาตรี Chatree Healthy Organic Farm

นายธรรมศาสตร์เล่าให้ฟังว่า ไร่ชาตรี เป็นไร่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการให้ความสำคัญกับขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste จึงมีแนวคิดในการนำขยะมาสร้างมูลค่า เพราะเห็นปัญหา คือ ขยะครัวเรือน ทำยังไงจะช่วยแก้ปัญหาขยะตรงนี้ให้หมดไป และทำขยะให้เกิดประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการคิดถังนำมาหมักขยะครัวเรือน เกิดเป็นถังหมักรักษ์โลก Chatree Zero Waste ซึ่งทุกครัวเรือนสามารถนำไปใช้หมักเศษอาหาร เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมัก สามารถลดทั้งขยะ และได้ปุ๋ยหมักไปปลูกพืช ปลูกต้นไม้ได้

สำหรับถังหมักรักษ์โลก Chatree Zero Waste จะประกอบไปด้วย ถังหมักรักษ์โลก Zero waste ขนาด 66 ลิตร สีดำ พร้อมฝา 1 ใบ จุลินทรีย์ Starter 1 แพก จุลินทรีย์ EM ชนิดน้ำ 1 ขวด คู่มือถังหมักรักษ์โลก 1 ฉบับ

ขั้นตอนการใช้งานก็ไม่ยาก ให้ใช้จุลินทรีย์ Starter ของไร่ชาตรี ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลาย จากนั้นนำใบไม้แห้ง หรือหญ้าแห้ง ประมาณ 1-2 ขีด โรยด้วยจุลินทรีย์ Starter คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้มีความชื้นบ่มไว้ในถุงพลาสติก ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วนำไปรองก้นถังหมักเติมขยะจนครบ 45-60 วัน สามารถเติมขยะได้ทุกวัน วันละประมาณ 1 กิโลกรัม หลังจากนั้นสามารถตักปุ๋ยด้านล่างไปใช้งานได้ และตักปุ๋ยไปใช้ได้ทุกวัน วันละประมาณ 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ควรวางถังหมักรักษ์โลกในตำแหน่งที่มีอากาศถ่ายเท เช่น พื้นที่ที่มีแสงแดดรำไร หรือส่องถึง ควรแยกขยะตั้งแต่ในครัว เช่น ถุงพลาสติก พลาสติก หลอด กระดูกขนาดใหญ่ น้ำแกงเผ็ดหรือจืด และควรรดจุลินทรีย์ผสมน้ำ ในอัตรา EM 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำเปล่า 600 มิลลิลิตร และเติมใบไม้แห้งหรือหญ้าแห้ง โรยในถังหมักหนา 1 นิ้วทุก 7-10 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลาย

กระทรวงพาณิชย์ได้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างผลงานถังหมักรักษ์โลกดังกล่าว จึงได้คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสินค้าที่จะได้เข้าร่วมโครงการ Local+ ในกลุ่มสินค้า BCG โดยจะเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ความรู้ และแนะนำช่องทางการตลาด เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และเปิดตัวออกสู่ตลาดได้เพิ่มมากขึ้นต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น