“พาณิชย์”เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 21 จ่ายชดเชย 3 ชนิด “ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี-ข้าวเปลือกเจ้า” เงินเข้าบัญชี 9 มี.ค.นี้ มีเกษตรกรได้รับเงิน 11,133 ครัวเรือน ส่วนอีก 2 ชนิดไม่ต้องจ่าย เหตุข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูกาล ข้าวเปลือกเหนียว ราคาทะลุเพดานประกัน เผยราคาข้าวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดส่งออกจะเกิน 8 ล้านตัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 งวดที่ 21 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-3 มี.ค.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่ต้องจ่าย เพราะสิ้นสุดฤดูเก็บข้าว ข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย
โดยข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,630.87 บาท ชดเชยตันละ 369.13 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,906.08 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 10,968.84 บาท ชดเชยตันละ 31.16 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 779 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 9,956.36 บาท ชดเชยตันละ 43.64 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 1,309.20 บาท ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,255.26 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 9 มี.ค.2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชยตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรงวดนี้ จำนวน 11,133 ครัวเรือน
“ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย สถานการณ์ราคาข้าววันนี้ดีขึ้นเป็นลำดับ และถ้าวันไหนราคาข้าวตกต่ำ รัฐบาลนี้ ก็ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชดเชยเงินส่วนต่างผ่านบัญชี ธ.ก.ส. โดยตรง ให้มีรายได้ตามที่ประกันไว้ โดย 4 ปี ที่ผ่านมา จ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วถึง 180,000 ล้านบาท ช่วยเติมเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร มีครอบครัวได้เงินส่วนต่างสูงสุดถึง 76,600 บาท และมีเงินอีกก้อน คือ ไร่ละพัน ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน อีกก้อนเข้ากระเป๋าชาวนา”นายจุรินทร์กล่าว
สำหรับข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปีที่แล้วส่งออกปริมาณ 1.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18% โดยข้าวทุกชนิดปี 2564 ส่งออกปริมาณ 6.3 ล้านตัน ปี 2565 ปริมาณ 7.7 ล้านตัน เป็นที่ 2 ของโลก ที่ 1 อินเดีย โดยไทยแซงเวียดนาม และในปี 2566 คาดาการส่งออกจะเกิน 8 ล้านตัน มีส่วนช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น ช่วยเกษตรกร ช่วยสร้างเงินให้กับประเทศ
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมค้าข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ราคาข้าวภายในประเทศโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ในส่วนของสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยนั้น เริ่มจะส่งออกได้มากขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่เริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงการที่อิรักยังมีการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ยังมีความต้องการสำรองข้าวไว้บริโภคภายในประเทศ และจากการที่ประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม ที่มีการชะลอการส่งออก ทำให้การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้มากกว่าปีที่ผ่านมา
สำหรับการจ่ายส่วนต่างในงวดที่ 1-20 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วจำนวน 2.606 ล้านครัวเรือน จำนวน 7,855.28 ล้านบาท และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.631 ล้านครัวเรือน จำนวน 53,942.61 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569